ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

6 มกราคม 66 : “เข้าไทย” จุดหมายต่อไปของคนลาวในวันที่เงินกีบอ่อนยวบ , BBC NEWS ไทย

ในภาวะที่เงินกีบอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2565 ชาวลาวจำนวนมากเผชิญกับราคาสินค้าที่พุ่งสูงแซงหน้ารายได้ที่ได้ในประเทศ คนหนุ่มสาวจำนวนมากมองไปหาโอกาสการมีงานทำ และค่าแรงที่สูงกว่าประเทศไทย


บ่ายวันหนึ่งของเดือน ธ.ค. หญิงสาวชาวลาวรูปร่างสันทัดกำลังเก็บกวาดทำความสะอาดโต๊ะอาหาร หลังลูกค้าชาวต่างประเทศ 2 ราย รับประทานเสร็จ แล้วออกจากจากร้านของเธอไป


นิดดา ที่ต้องหาเลี้ยง 7 ชีวิตในครอบครัว อยู่ในภาวะสับสนกับชีวิต


ด้านหนึ่ง เธอดีใจที่ร้านอาหารของเธอในนครปากเซ เมืองชายแดนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ที่อยู่ตรงข้ามกับ อ.สิรินธร จ. อุบลราชธานี ได้กลับมาเปิดบริการอีกครั้ง ตั้งแต่ช่วง ต.ค. 2565 หลังจากที่ต้องปิดตัวลงเพราะการระบาดของโควิดไปเกือบ 2 ปี


แม้นักท่องเที่ยวกลับมา แต่สิ่งที่คนลาวต้องเผชิญกับถ้วนหน้าตั้งแต่ต้นปี 2565 คือ ราคาสินค้าที่ถีบตัวสูงขึ้นมาก ทั้งราคาสินค้าเกษตรและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นเนื่องจากสงครามในยูเครน และปัจจัยค่าเงินกีบของลาวที่อ่อนค่าลงอย่างมาก ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่ที่นำเข้าจากประเทศไทย และเวียดนาม ในมูลค่าเงินกีบพุ่งทะยานขึ้น จนแม่ค้าอย่างนิดดา ยากที่จะมีกำไรมาจุนเจือสมาชิกครอบครัว


“ขายของตอนนี้ แทบไม่มีเงินเหลือ ต้องไปหยิบยืมคนอื่นมาใช้” หญิงสาวในวัยสายสิบปลายเล่าให้ผู้สื่อข่าวอิสระบีบีซีไทยฟัง  


ก่อนเปิดร้านรับนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก พร้อมกับที่รัฐบาลลาวประกาศเปิดประเทศ นิดดาคาดหวังและจินตนาการว่าการกลับมาเปิดร้านอีกครั้งนี้จะสามารถกอบกู้สถานะทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของครอบครัวเธอให้กลับมาเหมือนเช่นเคย แต่ระยะเวลา 2 เดือนที่กลับมาเปิดร้านในครั้งนี้ นิดดาเริ่มมีคำถามในตัวของเธอเอง  


ลูกค้าประจำและที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มเพิ่มจำนวนขึ้น ทุก ๆ ค่ำคืนที่เธอทำบัญชีรับจ่ายร้านก่อนนอน เธอเริ่มไม่แน่ใจว่าร้านอาหารของเธอยังจะสามารถเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักให้กับครอบครัวได้อยู่อีกหรือไม่ 


ข้าวของเครื่องใช้รวมทั้งวัตถุดิบของร้านอาหารไม่มีชื่อของนิดดาล้วนนำเข้าจากไทยหรือเวียดนาม แม้เนื้อสัตว์ต่าง ๆ สามารถจัดหาได้ในประเทศ แต่ผลผลิตเหล่านั้น ก็ต้องอาศัยอาหารสัตว์ที่นำเข้าจากไทย และอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทยักษ์ใหญ่จากประเทศเพื่อนบ้าน


อัตราเงินเฟ้อรายเดือนดาหน้าขึ้นไปเป็นเลข 2 หลัก เหยียบ 40% เมื่อเดือน พ.ย. 2565 เทียบกับ 12 เดือนก่อนหน้า ทำให้นิดดาต้องปรับราคาอาหารเป็นรายเดือนทีเดียว (ที่เห็นมาเรียกว่ารายสัปดาห์ก็พูดได้) แต่ก็ไม่สามารถปรับขึ้นไปตามอัตราเงินเฟ้อได้ ในภาวะที่ร้านคู่แข่งที่สายป่านยาวกว่า เลือกไม่ปรับ หรือปรับน้อยกว่า เจ้าของร้านอาหารอย่างนิดดาจึงดูเหมือนว่าอนาคตและโอกาสที่จะทำกำไรในกิจการของพวกเขานั้นช่างมืดมนและอนาคตที่แทบจะมองไม่เห็น  


ผมเดินสำรวจราคาสินค้าในตลาดดาวเรือง ตลาดหลักในปากเซ ในช่วงปลายเดือน ธ.ค. เทียบกับช่วงปลายปี 2564 พบว่าราคาสินค้าทะลุเพดานอย่างน่าตกใจ เช่น


เนื้อหมูสดต่อกิโลกรัม จาก 50,000 กีบ (101 บาท) ต่อกิโลกรัม เพิ่มเป็น 75.000 กีบ (152 บาท)


อกไก่จากผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ของไทย  จาก 25,000 กีบ (51 บาท) ต่อแพ็ก 1 กิโลกรัม ขึ้นเป็น 55,000 กีบ (112 บาท)


น้ำมันพืชทำอาหารนำเข้าจากไทย จาก 47,000 กีบ (116 บาท) ต่อถัง 5 ลิตร ขึ้นเป็น 160.000 กีบ (321 บาท)


ไข่ไก่จากเวียดนาม จาก 25,000 ( 51 บาท) ต่อ 30 ฟอง ขึ้นเป็น  57,000 (116 บาท)


หอมหัวใหญ่นำเข้าจากเวียดนาม จาก 7,000 (15 บาท) กีบต่อกิโลกรัม วันนี้ราคาขายอยู่ที่ 16.000 (33 บาท)


ข้อมูลจากศูนย์สถิติแห่งชาติ กระทรวงแผนการและการลงทุน ของ สปป.ลาว ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อ พุ่งจาก 6.25% เมื่อ ม.ค. ไปอยู่ที่  38.46 % ในเดือน พ.ย.


สินค้าราคาเท่าไทย แต่ค่าแรงไกลกันลิบ


นิดดา ซึ่งเคยทำงานที่ร้านอาหารในไทยอยู่หลายปี บอกเราว่า ราคาขายสินค้าจำเป็นส่วนใหญ่เกือบจะเท่ากับที่ขายอยู่ในเมืองไทย แต่ที่ต่างกันอย่างมากคือค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายในลาวที่เพิ่งปรับขึ้นมาไม่นานอยู่ที่ 1.5 ล้านกีบต่อเดือน หรือราว 3,027 บาท แต่ก็ยังมีนายจ้างจำนวนไม่น้อยที่จ่ายไม่ถึงอัตรานี้ เทียบกับ 353 บาทต่อวันใน กทม.


สปป. ลาวมีประชากรราว 6.75 ล้านคน แต่แทบไม่มีโรงงานผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ลาวนำเข้าจากประเทศไทยมากที่สุด รองลงมา คือ จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ฮ่องกง ไต้หวัน


เมื่อพึ่งพาการนำเข้า หากค่าเงินอ่อนตัว ราคาสินค้าก็พุ่งพรวด


เงินกีบอ่อนค่าอย่างรวดเร็วในรอบปีที่ผ่านมา จากอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดทั่วไป จากราว 280- 310 กีบต่อ 1 บาท เมื่อต้นปี 2565 มาอยู่ที่ 600 กีบ ต่อ 1 บาท ในช่วงปลายปี 2565  


โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปราะบาง


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ EIC ของ ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกรายงานเมื่อ 9 ส.ค. 2565 ว่า สปป.ลาวกำลังเผชิญวิกฤตเงินกีบอ่อนค่ารุนแรง พร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้น ตามภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น ประกอบกับการเร่งตัวของราคาน้ำมันและสินค้าต่าง ๆ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาอุปาทานคอขวดโลกที่สปป.ลาว จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าในสัดส่วนสูง 


ได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของ สปป.ลาวเร่งตัวขึ้น เกิดปัญหาการขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ และปัญหาการขาดแคลนสินค้าโดยเฉพาะน้ำมันเป็นวงกว้าง  เมื่อ 8 ส.ค. 2565 ค่าเงินกีบอ่อนค่าทะลุระดับ 15,000 กีบต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการอ่อนค่าลงถึง 57% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ  (ราคาในต้องตลาดในลาวในช่วงปลาย ธ.ค.  อยู่ที่ 20,715 กีบ/ดอลลาร์)


นักเศรษฐศาสตร์ของ EIC ระบุว่าต้นตอของวิกฤตในลาวาจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความเปราะบาง การดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวในประเทศเศรษฐกิจหลักได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสปป.ลาวที่มีภาระหนี้สาธารณะสูงจากการร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ท่ามกลางการขาดดุลการคลังต่อเนื่อง 


ขณะที่ช่องทางการระดมทุนของ สปป.ลาวเริ่มมีจำกัดและมีต้นทุนสูงขึ้น หลังถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงสู่ระดับเก็งกำไร นอกจากนี้ สปป.ลาวมีระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ต่ำท่ามกลางการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เงินกีบอ่อนค่าและเป็นความเสี่ยงต่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศและการนำเข้าสินค้าจำเป็นต่อไป 


เงินเฟ้อจะชะลอตัว


ทางการลาวประกาศว่าในปีกระต่ายอัตราเงินเฟ้อในประเทศจะเริ่มลดลง ทว่าเจ้าของกิจการรายเล็ก ๆ เช่น นิดดา และประชาชนทั่วไปก็ได้แต่คิดว่า พวกเขาจะสามารถประคับประคองชีวิตให้ถึงวันนั้นกันได้อย่างไร เพราะประชาชนและแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศลาวได้รับค่าจ้างในอัตราค่าแรงขั้นต่ำของประเทศ


“ถ้าหมดหนทางจริง คงต้องทิ้งบ้าน ทิ้งครอบครัว เข้าไทย ไปหางานทำ เหมือนคนอื่น ๆ เขา” นิดดากล่าว ด้วยเสียงเหนื่อยอ่อน พร้อมมองพื้นดิน



15/Jan/2023

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา