ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

“ที่ดินหลวง” อุทิศให้แล้ว...ทวงคืนได้ไหม ?

หลายท่านอาจเคยสงสัยหรือมีคำถามว่า... กรณีการอุทิศหรือยกที่ดินให้แก่หลวงเพื่อทำประโยชน์ไปแล้วนั้น ผู้ยกให้หรือทายาทของผู้ยกให้จะสามารถเรียกร้องขอคืนได้หรือไม่ เช่น กรณีเห็นว่าหลวงไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินที่อุทิศให้แล้ว หรือเห็นว่าหลวงไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของผู้อุทิศให้ เป็นต้น ซึ่งเมื่อได้มีการอุทิศที่ดินให้แก่หลวง ที่ดินดังกล่าวจะถูกขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนรัฐ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ตามมาตรา 1304(3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
       


วันนี้ผมจึงได้นำตัวอย่างคดี กรณีการร้องขอคืนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ได้มีการอุทิศให้แก่หลวงแล้ว ซึ่งมีทั้งกรณีที่ศาลตัดสินให้คืนได้ และกรณีที่ศาลตัดสินว่าไม่สามารถให้คืนได้ มาเป็นข้อมูลให้พิจารณากันครับ

 

ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้นำข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาวินิจฉัยวางหลักการในเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว


       
คดีแรก เป็นกรณีการอุทิศที่ดินให้แก่หลวงแล้วต่อมาหลวงไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยปล่อยให้เป็นที่ รกร้างว่างเปล่า กรณีเช่นนี้ผู้ยกให้หรือทายาทของผู้ยกให้จะมีสิทธิขอคืนได้หรือไม่ มาดูกันครับ...


       
เรื่องมีว่า...บิดาของนายมากได้อุทิศที่ดินจำนวน 1 งาน 68 ตารางวา ให้แก่กรมอนามัยเพื่อก่อสร้างเป็นสถานีอนามัย กรมอนามัยจึงได้ดำเนินการสร้างสถานีอนามัยเพื่อให้บริการประชาชนตามความ ประสงค์ของผู้ยกให้ แต่เนื่องจากต่อมาได้มีประชาชนมาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นจนทำให้เกิดความคับ แคบ จึงต้องย้ายสถานีอนามัยไปก่อสร้างในที่แห่งใหม่ ที่ดินเดิมจึงถูกปล่อยให้เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์มากว่า 20 ปี


       
นายมากจึงยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อขอคืนที่ดินในฐานะทายาทของผู้ยกให้

 

 

แต่กระทรวงการคลังและกรมธนารักษ์พิจารณาแล้วไม่คืนที่ดินให้ ด้วยเหตุผลว่าที่ดินดังกล่าวมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อ ประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ซึ่งต้องห้ามตามกฎหมายที่ไม่อาจโอนคืนให้แก่นายมากได้ แต่ได้อนุญาตให้นายมากเช่าที่ดินแปลงดังกล่าวแทน


       

นายมากเห็นว่ากรมธนารักษ์มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องโอนที่ดินดัง กล่าวคืนแก่ตน จึงนำเรื่องมาฟ้องต่อศาลปกครองว่า กรมธนารักษ์ละเลยต่อหน้าที่ไม่ดำเนินการคืนที่ดินซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว ให้แก่ตนในฐานะทายาทของผู้ยกให้


       

ประเด็นนี้ ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า กฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ.2537) ออกตามความใน พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 ข้อ 8 ได้กำหนดให้ การโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุคืนให้แก่ผู้ยกให้หรือทายาทของผู้ยกให้จะกระทำได้ ต่อเมื่อ (1) ที่ราชพัสดุนั้นมิใช่เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของ แผ่นดิน โดยเฉพาะ (2) ทางราชการไม่ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุนั้น ตามวัตถุประสงค์ของผู้ยกให้หรือมิได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของผู้ยกให้ ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ยกที่ดินให้แก่ทางราชการ (3) ผู้ยกให้หรือทายาทของผู้ยกให้ยื่นเรื่องราวขอที่ราชพัสดุคืนภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ทางราชการแจ้งความประสงค์ที่จะไม่ใช้ประโยชน์หรือนับแต่วันที่ ครบกำหนดระยะเวลาตาม (2)


       

จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า กรมธนารักษ์อาจคืนที่ดินให้แก่ผู้ยกให้หรือทายาทของผู้ยกให้ได้ โดยมีเงื่อนไขใน (1) ว่า ที่ดินราชพัสดุนั้นต้องมิใช่เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ซึ่งย่อมหมายความว่า หากได้มีการถอนสภาพการเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของ แผ่นดินโดยเฉพาะแล้ว ก็สามารถโอนคืนแก่ผู้ยกให้หรือทายาทของผู้ยกให้ได้นั่นเอง


       
 

ซึ่งในการที่จะถอนสภาพการเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น มาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุฯ ได้กำหนดไว้ว่า ที่ราชพัสดุเฉพาะที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เมื่อเลิกใช้เพื่อประโยชน์เช่นนั้น หรือเมื่อสิ้นสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว หรือที่ราชพัสดุที่ทางราชการหวงห้ามไว้และทางราชการไม่ประสงค์จะหวงห้ามอีก ต่อไป ให้ถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา


       

เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ กรมอนามัยได้ปล่อยที่ดินแปลงพิพาททิ้งไว้ โดยไม่มีสิ่งปลูกสร้างและไม่มีการใช้ประโยชน์ใดๆ ที่ดินดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็น “ที่ราชพัสดุที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ที่ได้เลิกใช้ประโยชน์แล้ว” กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติตามมาตรา 9 ดังกล่าว ที่กำหนดให้มีการถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยการตราเป็นพระราช กฤษฎีกา ซึ่งหากได้มีการดำเนินการถอนสภาพแล้ว ที่ดินดังกล่าวก็จะไม่มีสภาพเป็นที่ราชพัสดุที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อีกต่อไป และไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขห้ามโอนกรรมสิทธิ์คืนให้แก่ผู้ยกให้หรือทายาทของ ผู้ยกให้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ 11ฯ ดังกล่าว


       
ดังนั้น กรมธนารักษ์จึงมีหน้าที่ตามมาตรา 9 ที่จะต้องพิจารณารวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินแปลงพิพาท เพื่อเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพการเป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดิน การที่กรมธนารักษ์ยังมิได้ดำเนินการในกรณีดังกล่าว จึง ถือว่าเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กรมธนารักษ์เสนอข้อเท็จจริงและความเห็นไปยัง กระทรวงการคลังเพื่อดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติ ของแผ่นดินภายใน 45 วัน เพื่อพิจารณาคืนที่ดินราชพัสดุแปลงพิพาทให้แก่นายมากต่อไป (อ.152/2555)
       


 

คดีที่สอง เจ้าของที่ดินได้อุทิศที่ดินให้แก่หลวงไปแล้ว แต่หลวงได้นำไปใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้ยกให้ กรณีเช่นนี้ผู้ยกให้หรือทายาทของผู้ยกให้จะมีสิทธิร้องขอคืนได้หรือไม่ มาดูกันต่อครับ...


       
ดาบตำรวจมนตรีได้ยกที่ดิน 4 ไร่ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยทำเป็นหนังสือระบุข้อความว่า “ยกที่ดินให้กระทรวงการคลัง (เพื่อใช้ประโยชน์ในราชการกรมตำรวจ)” แต่ก็ยังไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ในราชการกรมตำรวจแต่อย่างใด จนกระทั่ง 5 ปีต่อมา กรมชลประทานจึงได้ขอใช้ที่ราชพัสดุดังกล่าวเพื่อก่อสร้างหัวงานโครงการชล ประทานเขาระกำขยาย โดยกรมธนารักษ์ได้อนุญาตให้กรมชลประทานเข้าทำประโยชน์ได้


       
เมื่อดาบตำรวจมนตรีเสียชีวิตลง ผู้จัดการมรดกและบุตรของดาบตำรวจมนตรีจึงได้ยื่นคำขอคืนที่ดินแปลงดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้มีการนำไปใช้ประโยชน์ในราชการตำรวจตามวัตถุประสงค์ ของดาบตำรวจมนตรี แต่กรมธนารักษ์ได้แจ้งว่าไม่สามารถคืนให้ได้ เนื่องจากเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เรื่องจึงขึ้นสู่ศาลปกครองตามระเบียบครับ !


       
กรณีนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า การที่ดาบตำรวจมนตรีอุทิศที่ดินโดยระบุวัตถุประสงค์ว่า เพื่อใช้ประโยชน์ในราชการกรมตำรวจ แต่ไม่ได้มีการระบุข้อความที่ เป็นเงื่อนไขว่า เมื่อทางราชการไม่ใช้หรือเปลี่ยนการใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นแล้วจะต้องคืน ที่ดินให้แก่ผู้ยกให้ กรณีจึงเป็นการอุทิศที่ดินให้แก่ทางราชการโดยไม่มีเงื่อนไขและไม่ได้คิด มูลค่าอย่างใดตอบแทน ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่น ดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ แม้ว่ากรมตำรวจจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างบ้านพักตำรวจตามเจตนาของดาบ ตำรวจมนตรีโดยไม่ได้แจ้งให้ทายาททราบ แต่ที่ดินพิพาทได้ตกเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินและเป็นที่ราชพัสดุอัน เป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลัง โดยมีกรมธนารักษ์เป็นผู้ดูแลบำรุงรักษา ซึ่งต่อมาได้ยินยอมให้กรมชลประทานเข้าใช้ประโยชน์


       
โดยการที่จะถอนสภาพการเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น จะต้องเป็นกรณีที่เลิกใช้ประโยชน์หรือสิ้นสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นที่ราชพัสดุที่ทางราชการไม่ประสงค์จะหวงห้ามอีกต่อไป (มาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518) ดังนั้น เมื่อที่ดินดังกล่าวทางราชการได้ใช้ประโยชน์อยู่ กรณีจึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ และไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์คืนแก่ผู้ยกให้หรือทายาทของผู้ยกให้ได้นั่นเอง


       
การที่กรมธนารักษ์และกระทรวงการคลังไม่ดำเนินการโอนคืนที่ดินแก่ทายาทของผู้ยกให้ในกรณีนี้ จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง (อ.224/2555)
       


จากตัวอย่างคดีที่หยิบยกมานี้จะเห็น ได้ว่า... ที่ดินที่มีการอุทิศให้หลวงแล้ว หากหลวงเลิกใช้ประโยชน์โดยปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ผู้ยกให้หรือทายาทของผู้ยกให้มีสิทธิร้องขอคืนได้ ส่วนกรณีที่หลวงได้เข้าใช้ประโยชน์แต่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ยก หากมิได้มีการระบุเงื่อนไขอย่างชัดเจนว่าถ้ามีการใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามเจตนา ของผู้ยกให้ ผู้ยกให้มีสิทธิร้องขอคืนได้ ที่ดินนั้นก็จะถือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่มีการประโยชน์ และไม่เข้าเงื่อนไขที่จะถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ ผู้ยกให้หรือทายาทของผู้ยกให้จึงไม่อาจขอคืนได้นั่นเองครับ !


       

ครองธรรม ธรรมรัฐ

ผู้จัดการออนไลน์ 13 พฤษภาคม 2556



28/Apr/2014

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา