ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

การประนีประนอมยอมความในคดีฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541ได้กำหนดให้นายจ้างและลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินจากนายจ้างหลายประเภท เช่น ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย เป็นต้น ซึ่งหากนายจ้างไม่จ่ายเงินดังกล่าว ลูกจ้างอาจนำคดีไปฟ้องศาลแรงงานเพื่อบังคับนายจ้างจ่ายเงินนั้นได้ หรือลูกจ้างอาจยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อพิจารณาและมีคำสั่งให้ นายจ้างจ่ายเงินได้โดยพนักงานตรวจแรงงานต้องสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่ง ภายใน 60 วัน

 

เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งแล้ว หากนายจ้างไม่พอใจคำสั่งนั้น นายจ้างจะเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล หรือหากลูกจ้างไม่พอใจ ก็สามารถนำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้เช่นกัน

แต่ส่วนใหญ่เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงิน ซึ่งนายจ้างเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายจ้างจะฟ้องพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลย บางคดีนายจ้างอาจฟ้องลูกจ้างผู้ยื่นคำร้องเป็นจำเลยร่วมด้วย โดยมีคำขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน

 

การไกล่เกลี่ย

 

คดีที่นายจ้างหรือลูกจ้างฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานเป็นคดีแรงงาน ซึ่งศาลแรงงานต้องดำเนินกระบวนพิจารณาให้ถูกต้องตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 คือ การไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันก่อนที่จะพิจารณาพิพากษาต่อไป

 

ในการไกล่เกลี่ยคดีแรงงานประเภทนี้ คู่พิพาทที่แท้จริง คือนายจ้างกับลูกจ้าง   ส่วนพนักงานตรวจแรงงานเป็นเพียงผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายด้วยการสอบสวนข้อเท็จ จริงและชี้สิทธิหน้าที่ระหว่างกัน (สั่งให้นายจ้างจ่ายหรือยกคำร้องของลูกจ้าง) เท่านั้น   คดีจำนวนไม่น้อยที่ลูกจ้างกับนายจ้างมักจะตกลงกันได้ โดยลูกจ้างจะได้รับเงินส่วนหนึ่งซึ่งอาจมีจำนวนน้อยกว่าจำนวนตามคำสั่งของ พนักงานตรวจแรงงานและนายจ้างก็จะถอนคำฟ้องไปซึ่งศาลแรงงานอาจจดรายงานกระบวน พิจารณา (บันทึก) ไว้ว่า “โจทก์ (นายจ้าง) และลูกจ้างหรือจำเลยร่วมตกลงกันได้ โดยลูกจ้างได้รับเงินตามที่โจทก์จ่ายให้และลูกจ้างไม่ติดใจเรียกร้องเงินใดๆ ตามที่ยื่นคำร้องไว้ต่อพนักงานตรวจแรงงาน (หรือขอถอนคำร้องที่ได้ยื่นไว้ต่อพนักงานตรวจแรงงาน)”

 

คดีที่ไม่ยุติ

 

เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนคำฟ้องแล้ว คดีหรือข้อพิพาทระหว่างนายจ้างก็น่าจะจบสิ้น   และนายจ้างจะหลุดพ้นต่อความรับผิดทั้งปวง เพราะกระบวนการยื่นคำร้องของลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงานนั้นมีข้อยุติหรือ ถึงที่สุดแล้ว แต่นายจ้างหลายคนกลับถูกพนักงานตรวจแรงงานมีหนังสือเรียกไปเพื่อแจ้งว่า พนักงานตรวจแรงงานจะดำเนินคดีอาญาในความผิดเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง พนักงานตรวจแรงงานหรือความผิดที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในเรื่องไม่จ่ายเงินต่างๆ ตามที่มีคำสั่งไว้ต่อไป

 

นายจ้างบางรายได้รับแจ้งจะยอมให้เปรียบเทียบ (โดยอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายหรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย พิจารณาเปรียบเทียบปรับ)

 

นายจ้างที่ประสบเหตุการณ์เช่นนี้มักจะรู้สึกแปลกและไม่พอใจ ว่าเหตุใดคดีที่ตนดำเนินการมาอย่างถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย (ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123, 124 และ 125) จนจบสิ้นแล้ว ยังต้องถูกพนักงานตรวจแรงงานดำเนินคดีอาญาต่อตนอีก ซึ่งไม่ว่าผลคดีต่อไปจะเป็นเช่นไร นายจ้างก็ต้องประสบความยุ่งยากและเสียหายทั้งสิ้น เมื่อสอบถามพนักงานตรวจแรงงานก็ได้รับแจ้งว่าพนักงานตรวจแรงงานต้องปฏิบัติ ตามระเบียบของกรมที่กำหนดไว้เช่นนั้น

 

กรณีจึงมีข้อคิดว่าระเบียบดังกล่าว (หากมีจริง) จะเป็นระเบียบที่เหมาะสมชอบด้วยหลักการบริหารราชการแผ่นดินและกฎหมายคุ้ม ครองแรงงานและกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแรงงานหรือไม่

 

บทบัญญัติและแนวคิด

 

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เมื่อนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติต่างๆ ก็มักจะมีความผิดทางอาญา เช่น เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยก็จะมีความรับผิดตามมาตรา 144 มี โทษจำคุกไม่เกิน 66 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม จะถือว่านายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และมีความผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อศาลรับฟังข้อเท็จจริงว่านายจ้างได้ฝ่าฝืนหรือ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น โดยจะต้องมีพยานหลักฐานมาสืบแสดงจนปรากฏข้อเท็จจริงเช่นนั้น ซึ่งกฎหมายก็มีบทบัญญัติยกเว้นไว้หลายกรณี เช่น นายจ้างที่เลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีความผิดตามที่กฎหมายกำหนด   จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง  

 

แต่ถ้าลูกจ้างกระทำความผิดตามที่กฎหมายกำหนด นายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ ดังนั้น เมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้างแล้วไม่ได้รับค่าชดเชย ก็มิได้หมายความว่านายจ้างจะมีความผิดทางอาญา และแม้ว่าพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแล้ว ก็มิใช่ว่านายจ้างมีความผิดทางอาญาฐานไม่จ่ายค่าชดเชยเสมอไป  

 

หาก นายจ้างเห็นว่าหรือเชื่อว่าตนมีเหตุผลหรือมีข้อเท็จจริงที่มิต้องปฏิบัติตาม กฎหมาย เช่น ลูกจ้างกระทำความผิดอันเป็นข้อยกเว้นที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เป็นต้น นายจ้างก็ไม่มีความผิดทางอาญา เนื่องจากไม่มีเจตนา (ที่จะฝ่าฝืนกฎหมาย) อันเป็นองค์ประกอบประการหนึ่งของการกระทำผิดทางอาญา

           

ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้ในคดีหนึ่งว่า ตามพฤติการณ์ดังกล่าวมามีเหตุทำให้จำเลย (นายจ้าง) เชื่อโดยสุจริตว่านอกจากโจทก์ (ลูกจ้าง) จะฝ่าฝืนระเบียบของจำเลยในกรณีที่ร้ายแรงแล้ว โจทก์ยังทุจริตต่อหน้าที่และจงใจให้จำเลยเสียหาย อันจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ก็ตาม... จำเลยจึงไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2663/2519)

 

เมื่อนายจ้างได้รับคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน และนำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงานก็ย่อมแสดงได้เป็นเบื้องต้นว่า นายจ้างเชื่อโดยสุจริตว่านายจ้างมีเหตุที่จะไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง (ทั้งกฎหมายก็บัญญัติให้สิทธิแก่นายจ้างไว้เช่นกัน) นายจ้างจึงไม่น่าจะมีความคิดผิดตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้น

 

เมื่อพิเคราะห์ถึงเจตนารมณ์ของบทบัญญัติในมาตรา 123 ถึงมาตรา 125 ซึ่งเป็นขั้นตอนในการยื่นคำร้องของลูกจ้างและการพิจารณาของพนักงานตรวจแรง งานแล้ว จะเห็นได้ว่า หากมีการยื่นคำร้องและมีการออกคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานแล้ว   นาย จ้างจะมีความผิดเกี่ยวกับการจ่ายเงินตามที่ยื่นคำร้อง ก็เพราะกรณีที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 151 วรรคสอง (มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) เท่านั้น นายจ้างจะไม่มีความผิดในเรื่องการไม่จ่ายเงินตามที่ยื่นคำร้องอีกต่อไป (มิฉะนั้นจะเป็นกรณีที่นายจ้างมีความผิดซ้ำซ้อน) และหากนายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานหรือคดีตามคำร้องของ ลูกจ้างยุติลงโดยนายจ้างมิได้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน นายจ้างก็จะไม่มีความผิดใดๆ ในเรื่องที่ยื่นคำร้องต่อไป

 

 “เมื่อนายจ้างนำคดีไปสู่ศาลแรงงาน และมีการตกลงกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างตามการไกล่เกลี่ยของศาลแรงงานแล้ว ก็มีผลเท่ากับลูกจ้างไม่ติดใจเรียกร้องตามคำร้องที่ยื่นไว้นั้นอีก ถือว่าคำร้องของลูกจ้างสิ้นผลไป คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ออกคำสั่งไว้ย่อมสิ้นผลตามไปด้วย (แม้จะไม่มีการเพิกถอนคำสั่งนั้นโดยศาลก็ตาม) เมื่อคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานสิ้นผลไปแล้ว ก็ไม่อาจจะถือว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานนั้นได้อีก นายจ้างน่าจะไม่มีความผิดทางอาญาตามมาตรา 151 วรรคสอง”

 

กฎหมายและการบังคับใช้

 

กฎหมายแรงงานเป็นข้อกำหนดหรือกติการะหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยปกติหากนายจ้างและลูกจ้างอยู่และตกลงกันได้ด้วยดีก็ควรให้เป็นไปตามความสัมพันธ์นั้น หากมีคำร้องแสดงถึงการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย รัฐก็จักต้องเข้าไปดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่การบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายก็ยังต้องพิจารณาถึงข้อตกลงหรือการประนีประนอมกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างด้วย

 

ระเบียบหรือข้อบังคับหรือแนวปฏิบัติใดๆ ก็ตาม ควรกำหนดให้สอดรับกับแนวคิดหลักการของกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย และระเบียบทุกระเบียบ ข้อบังคับทุกฉบับ แนวปฏิบัติทุกข้อไม่ว่าขององค์กรใดล้วนรอต่อการแก้ไขและปรับปรุงทั้งสิ้น

 

โดย....   นายเกษมสันต์ วิลาวรรณ

            ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลแรงงานกลาง

            วารสารศาลแรงงานกลาง

            ประจำปี 2549 ฉบับที่ 1 (ฉบับพิเศษ) ตุลาคม – ธันวาคม 2549



18/Nov/2013

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา