ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

“การละเมิดสิทธิด้านแรงงานจะเข้าองค์ประกอบคดีค้ามนุษย์หรือไม่ ต้องไปดูที่พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6” update 8 เมษายน 2563

อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 71/2562

 

องค์ประกอบในการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ต้องประกอบด้วย การเป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งเด็ก เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบโดยข่มขืนใจให้ทำงานหรือให้บริการโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเองหรือของบุคคลอื่น โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยทำให้บุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6

 

เมื่อไม่ปรากฏว่า นับตั้งแต่ผู้เสียหายเข้ามาทำงานในโรงงานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จนถึงวันที่ ผู้เสียหายหลบหนีออกมา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำการอันใดเป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายทำงานโดยทำให้ผู้เสียหายกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้เสียหาย โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยทำให้ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้แต่อย่างใด

 

คงได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ผู้เสียหายทำงานหนักและไม่จ่ายเงินเดือนให้แก่ผู้เสียหายเท่านั้น ควบคุมให้ทำงานต่อเนื่อง

 

ส่วนการที่จำเลยที่ 2 นำกุญแจมาคล้องประตูห้องพักซึ่งเป็นบ้านพักของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 พักอาศัยอยู่ด้วย ก็เพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้เสียหาย

 

และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 พูดห้ามผู้เสียหายมิให้ออกไปนอกโรงงานและบ้านพัก หากออกไปจะตัดผมให้สั้นเหมือนผู้ชาย ก็มิได้พูดด้วยน้ำเสียงข่มขู่ และผู้เสียหายไม่เคยเห็นคนงานคนใดถูกลงโทษ

 

กรณีไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ ใช้กำลังประทุษร้าย ทำให้ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้เพื่อให้ผู้เสียหายทำงานให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2)

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ว่า ผู้เสียหายเป็นคนต่างด้าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีภริยากันและเป็นเจ้าของโรงงานผลิตขนมจีนที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่ควบคุมดูแลคนงานในโรงงาน

 

เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2557 ผู้เสียหายเดินทางเข้ามาในประเทศไทยทางพรมแดนช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี โดยไม่มีหนังสือเดินทางและไม่ผ่านการตรวจของพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วมีชายไทยไปรับผู้เสียหายพามาส่งที่โรงงานของจำเลยที่ 1 และที่ 2

 

ต่อมาวันที่ 6 ตุลาคม 2557 ขณะผู้เสียหายออกจากโรงงานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น ร้อยตำรวจโทพัฒนธรวิทย์ ออกตรวจท้องที่ผ่านมาพอดีได้พบผู้เสียหายสวมเสื้อเปียกน้ำสอบถามได้ความว่า ผู้เสียหายเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงจับผู้เสียหายส่งร้อยตำรวจเอกเชวงศักดิ์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเสนาเพื่อดำเนินคดี ร้อยตำรวจเอกเชวงศักดิ์สอบปากคำผู้เสียหายไว้ แล้วส่งตัวผู้เสียหายให้เจ้าพนักงานตำรวจกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ตรวจสอบและดำเนินการ ร้อยตำรวจเอกหญิงนันท์นภัส พนักงานสอบสวนกองกำกับการ 2 กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์รับผู้เสียหายไว้ แล้วสอบคำให้การผู้เสียหาย

 

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่

 

โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความเป็นพยานว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2557 ผู้เสียหายโดยสารรถแท็กซี่มาถึงโรงงานผลิตขนมจีนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 พบจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 บอกให้ผู้เสียหายทำหน้าที่ตักขนมจีนที่ต้มสุกแล้ว ให้เงินเดือน เดือนละ 6,000 บาท เริ่มทำงานเวลา 4 นาฬิกา จนถึงเวลา 24 นาฬิกา ผู้เสียหายทำงานร่วมกับคนสัญชาติลาว 11 คน คนสัญชาติไทย 2 คน

 

การทำงานจะมีจำเลยทั้งสามกับชายอีกคนหนึ่งจำชื่อไม่ได้คอยควบคุม ผู้เสียหายพักอาศัยอยู่ที่บ้านพักของโรงงานไม่สามารถออกไปข้างนอกได้เนื่องจากจำเลยที่ 2 ห้ามไว้ และบอกว่าหากออกไปจะถูกลงโทษด้วยการตัดผมให้สั้นเหมือนผู้ชาย

 

ช่วงเวลากลางคืนจำเลยที่ 2 นำกุญแจมาคล้องประตูห้องพักทั้งสองบาน ผู้เสียหายไม่อยากทำงานที่โรงงานเพราะเป็นงานที่หนัก ผู้เสียหายเคยบอกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าอยากกลับบ้าน จำเลยที่ 1 และที่ 2 บอกว่าต้องทำงาน 2 ปีถึง 3 ปีก่อนแล้วจึงจะให้กลับ

 

ผู้เสียหายทำงานอยู่ประมาณ 1 เดือนโดยไม่ได้รับเงินเดือน ต่อมามีลูกค้ามาซื้อขนมจีน ผู้เสียหายแอบไปสอบถามว่าจะออกจากโรงงานได้อย่างไร ลูกค้าบอกให้ปีนกำแพงด้านหลังโรงงาน ผู้เสียหายปีนกำแพงด้านหลังโรงงานออกมาเดินผ่านวัด ข้ามทางน้ำจนถึงตลาดและไปขอความช่วยเหลือจากแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวแล้วมีเจ้าพนักงานตำรวจพาไปสถานีตำรวจ ผู้เสียหายเล่าเหตุการณ์ให้เจ้าพนักงานตำรวจฟัง

 

ต่อมาจำเลยที่ 2 มาที่สถานีตำรวจจะนำตัวผู้เสียหายกลับไป แต่ผู้เสียหายไม่ยอมกลับ จากนั้นผู้เสียหายถูกส่งตัวไปที่กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างตนเองเบิกความเป็นพยานในทำนองเดียวกันว่า ผู้เสียหายมาตามหาญาติที่โรงงานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อผู้เสียหายเข้ามาในโรงงานแล้วไม่พบญาติร้องไห้บอกว่าไม่มีที่ไป จำเลยที่ 1 และที่ 2 สงสารจึงอนุญาตให้พักค้างคืน เช้าวันรุ่งขึ้นไม่พบผู้เสียหาย

 

แต่ช่วงสายได้รับโทรศัพท์จากเจ้าพนักงานตำรวจให้ไปที่สถานีตำรวจภูธรเสนา เมื่อไปถึงพบผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 และที่ 2 แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจว่าผู้เสียหายไม่ใช่คนงานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 พิเคราะห์แล้ว

 

แม้โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวที่เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผู้เสียหายไว้เป็นคนงานในโรงงานผลิตขนมจีนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ผู้เสียหายก็เบิกความเป็นขั้นเป็นตอนนับตั้งแต่มีการติดต่อผู้เสียหายขณะที่พักอาศัยอยู่ในแขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ให้มาทำงานที่โรงงานผลิตขนมจีนในประเทศไทย ผู้เสียหายลักลอบเข้ามาในประเทศไทยทางพรมแดนช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี แล้วมีชายไทยพาผู้เสียหายเดินทางจากจังหวัดอุบลราชธานีมาที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตามลำดับ

 

จากนั้นพามาส่งที่โรงงานผลิตขนมจีนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำงานอยู่ในโรงงานประมาณ 1 เดือน จนกระทั่งหลบหนีออกมาพบร้อยตำรวจโทพัฒนธรวิทย์ผู้จับกุม และร้อยตำรวจเอกเชวงศักดิ์ พนักงานสอบสวน โดยโจทก์มีร้อยตำรวจโทพัฒนธรวิทย์และร้อยตำรวจเอกเชวงศักดิ์มาเบิกความเป็นพยานยืนยันตรงกันว่า ขณะพบผู้เสียหาย ผู้เสียหายมีอาการตกใจและเสื้อผ้าเปียกน้ำ เมื่อผู้เสียหายไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาก่อน

 

ส่วนร้อยตำรวจโทพัฒนธรวิทย์กับร้อยตำรวจเอกเชวงศักดิ์ต่างไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์ทั้งสามจะกลั่นแกลงปรักปรักจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อให้รับโทษทางอาญา คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผู้เสียหายซึ่งเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายไว้เป็นคนงานในโรงงานผลิตขนมจีนของจำเลยที่ 1 และที่ 2

 

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ครบองค์ประกอบความผิดฐานค้ามนุษย์หรือไม่

 

คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามว่าร่วมกันกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยบังคับใช้แรงงาน ซึ่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 ให้คำนิยาม คำว่า "การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ" หมายความว่า การข่มขืนใจให้ทำงานหรือให้บริการโดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

 

(1) ทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเองหรือของผู้อื่น (2) ขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ (3) ใช้กำลังประทุษร้าย (4) ยึดเอกสารสำคัญประจำตัวของบุคคลนั้นไว้ หรือนำภาระหนี้ของบุคคลนั้นหรือของผู้อื่นมาเป็นสิ่งผูกมัดโดยมิชอบ (5) ทำให้บุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้

 

ดังนี้ องค์ประกอบในการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์โดยบังคับใช้แรงงานหรือบริการตามฟ้อง จึงต้องประกอบด้วย การเป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งเด็ก เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบโดยข่มขืนใจให้ทำงานหรือให้บริการโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเองหรือของผู้อื่น โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยทำให้บุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้

 

แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดให้ผู้เสียหายอยู่อาศัยและไม่ให้ผู้เสียหายออกจากโรงงานหรือบ้านพักไปไหน โดยจำเลยที่ 2 ขู่ว่าถ้าออกไปจะถูกลงโทษด้วยการตัดผมให้สั้นเหมือนผู้ชาย แต่ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏจากการนำสืบของโจทก์ว่า ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2557 ที่ผู้เสียหายเข้ามาทำงานในโรงงานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2557 ที่ผู้เสียหายหลบหนีออกมา

 

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำการใดอันเป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายทำงานโดยทำให้ผู้เสียหายกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหาย โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยทำให้ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้แต่อย่างใด

 

คงได้ความแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ผู้เสียหายทำงานเวลาตั้งแต่เวลา 4 นาฬิกา จนถึงเวลา 24 นาฬิกา และไม่จ่ายเงินเดือนให้ผู้เสียหายเท่านั้น แม้ในระหว่างการทำงานจำเลยทั้งสามคอยควบคุมดูแลการทำงานก็น่าจะเป็นเพราะต้องการให้ผู้เสียหายทำงานอย่างต่อเนื่องตามลักษณะงานที่มอบหมายให้ตักขนมจีนที่ต้มสุกแล้ว ในช่วงเวลากลางคืนจำเลยที่ 2 นำกุญแจมาคล้องประตูห้องพักทั้งสองบานก็ได้ความจากผู้เสียหายและจำเลยที่ 2 ตรงกันว่า นอกจากผู้เสียหายแล้วยังมีคนงานอื่นพักอาศัยอยู่ในบ้านรวมทั้งจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านด้วย

 

การที่จำเลยที่ 2 นำกุญแจมาคล้องประตูห้องพักไว้ทั้งสองบานก็เพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้พักอาศัย ส่วนการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 สั่งห้ามไม่ให้ออกไปนอกโรงงานหรือบ้านพักโดยจำเลยที่ 2 บอกว่าถ้าออกไปจะถูกลงโทษด้วยการตัดผมให้สั้นเหมือนผู้ชาย ก็ได้ความจากผู้เสียหายเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 พูดด้วยน้ำเสียงปกติธรรมดา ไม่ได้ขู่เข็ญ และผู้เสียหายไม่เคยเห็นคนงานคนใดถูกลงโทษ เพียงแต่รับฟังมาจากนางแก้วเท่านั้น

 

กรณีจึงยังไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่า เป็นการทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ ใช้กำลังประทุษร้าย ทำให้ผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้เพื่อให้ผู้เสียหายทำงานให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานค้ามนุษย์ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

 

ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น และกรณีไม่จำต้องพิจารณาสั่งคำร้องฉบับลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ของจำเลยที่ 1 ที่ขอส่งเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับอายุของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายมีอายุกว่าสิบแปดปีในขณะเกิดเหตุเพราะไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป

 

เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังไม่ได้ว่ามีการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ดังกล่าวมาแล้ว จึงลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานค้ามนุษย์ไม่ได้อันเป็นเหตุในลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 3 ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผู้เสียหายไว้เป็นคนงานในโรงงานผลิตขนมจีนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ทำหน้าที่ตักขนมจีนต้มสุกแล้ว จำเลยทั้งสามควบคุมผู้เสียหายให้ทำงานตลอดเวลามิให้ไปไหนมาไหนโดยอิสระกักขังให้หลับนอนอยู่ในบ้านพักในโรงงาน การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายและให้ผู้เสียหายทำงานให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 และมาตรา 310 ทวิ

 

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันให้ผู้เสียหายซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 รู้ว่าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้ผู้เสียหายพ้นจากการจับกุมหรือไม่

 

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผู้เสียหายซึ่งเป็นคนต่างด้าวเข้ามาราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายไว้เป็นคนงานในโรงงานผลิตขนมจีนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยให้ผู้เสียหายทำงานตั้งแต่เวลา 4 นาฬิกา จนถึง 24 นาฬิกา จัดให้ผู้เสียหายอยู่อาศัยและไม่ให้ผู้เสียหายออกจากโรงงานหรือบ้านพักของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปไหนมาไหนโดยอิสระ บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาร่วมกันช่วยเหลือผู้เสียหายคนต่างด้าวเพื่อให้พ้นจากการจับกุมตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าวมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

 

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก, 310 ทวิ จำคุกคนละ 3 ปี และจำเลยที่ 1 กับที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง อีกกระทงหนึ่ง จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีกำหนดคนละ 4 ปี สำหรับจำเลยที่ 1 ให้บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6252/2556 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษในคดีนี้เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 3 หนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 2 ปี 3 เดือน ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) และมาตรา 9 วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

 

หมายเลขคดีดำศาลฎีกาอ.706/2561

หมายเลขคดีดำศาลชั้นต้นอ1069/2559

หมายเลขคดีแดงศาลชั้นต้นอ3764/2559



08/Apr/2020

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา