ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

แห่ตั้ง 200 บริษัทแรงงานต่างด้าว โขกหัวคิว 3 เท่าตัว , ประชาชาติธุรกิจ 25 มกราคม 63

ธุรกิจจัดหาแรงงานต่างด้าวบูม 200 บริษัทลุยแย่งเค้ก ตั้งบริษัทลูกฟันกำไรส่วนต่าง 3 เท่าตัว ผู้ประกอบการตั้งคำถามเข้าข่ายจ้างงานไม่เป็นธรรม หวั่นกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน สำนักบริหารแรงงานต่างด้าวชี้ธุรกิจแรงงานต่างด้าวฮอตสุดในอุตสาหกรรมก่อสร้าง


ตั้ง 200 บริษัท บูมหาต่างด้าว


แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์เคยส่งผลให้ไทยเคยถูกจัดอันดับอยู่ใน Tier 3 เสี่ยงต่อการถูกคว่ำบาตรทางการค้าจากสหรัฐอเมริกามาครั้งหนึ่ง และทำให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ผ่านมาตรการการป้องกันและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนั้นยังนำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น จนกระทั่งในปี 2559 ไทยจึงเลื่อนอันดับมาอยู่ที่เทียร์ 2 (Tier 2 Watch List) หรือบัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ธุรกิจจัดหาแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย ได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการ


ตามข้อมูลของกรมการจัดหางานพบว่า ปัจจุบันมีบริษัทจัดหาแรงงานต่างด้าวเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก แต่มีที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจเพียง 218 ราย (ข้อมูลล่าสุด 29 พ.ย. 2562) ซึ่งบริษัทเหล่านั้นจัดหาแรงงานจาก 4 ประเทศเพื่อนบ้าน คือ เมียนมา, สปป.ลาว, กัมพูชา และเวียดนาม ดังนั้นเมื่อประเมินค่าใช้จ่ายในการเรียกเก็บจากแรงงานต่างด้าว คือ ค่าจัดทำพาสปอต, ค่าวีซ่า, ค่ายื่นใบอนุญาตทำงาน (work permit), ค่าตรวจสุขภาพ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ มีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 50,000-70,000 บาทต่อหัว ขณะที่ภาครัฐระบุว่า ค่าใช้จ่ายจะไม่เกิน 20,000 บาทต่อหัว คำถามที่ตามมา คือ ส่วนต่างที่เกิดขึ้นราว 3 เท่าตัว หรือประมาณ 30,000-50,000 บาท คือ ค่าบริการที่บริษัทจัดหาเรียกเก็บจากแรงงานต่างด้าวหรือไม่


“ถ้าบอกว่าเรากำลังหนีเรื่องเทียร์ ภาครัฐก็ต้องออกมาตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมถึงเมื่อเรากังวลเรื่องการลงทุนจากต่างชาติมากมาย ด้วยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน แต่เรากลับไม่ดำเนินการแก้ไขเลย และประเด็นนี้ถือว่าเป็นการจ้างงานแบบไม่เป็นธรรมหรือไม่ อีกทั้งเมื่อแรงงานเกิดปัญหา ผู้ประกอบการจึงต้องเข้ามาจัดการ และรับภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หากไม่มีฐานแรงงานที่ดี นักลงทุนที่ไหนเขาจะเข้ามาลงทุน”


ตั้งบริษัทลูกเก็บค่าส่วนต่าง


แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในทางกลับกันยังพบบริษัทรับจัดหาแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ดำเนินการจัดตั้ง “บริษัทลูก” ขึ้นมาใหม่ เพื่อทำหน้าที่จัดหาแรงงานต่างด้าว “แทนบริษัทแม่” ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมีการวิเคราะห์ของผู้ประกอบการว่า หากดำเนินการจัดหาแรงงานโดยบริษัทแม่ จะต้องรายงานข้อมูลในการจัดหาแรงงานต่อกรมการจัดหางาน แต่หากให้บริษัทลูกดำเนินการแทน กฎหมายครอบคลุมไม่ถึงก็ไม่จำเป็นต้องรายงาน ฉะนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่ “ค่าส่วนต่าง” ที่เกิดขึ้น จึงถือเป็นรายได้ที่ไม่ต้องรายงานต่อหน่วยงานกำกับดูแล


ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นต่างด้าว แต่ไม่ใช่แรงงานทั่วไป เข้ามาทำงานในไทยผ่านการจัดหาจากบริษัทจัดหานั้น สามารถเรียกเก็บค่าดำเนินการต่าง ๆ ได้ไม่เกิน 30% จากผลตอบแทนในเดือนแรกที่เข้ามาทำงาน ในขณะที่แรงงานทั่วไปไม่มีการกำหนดค่าดำเนินการจัดหา ตรงนี้จึงกลายเป็นช่องทางให้กับบริษัทจัดหางานเข้ามาทำธุรกิจนี้มากขึ้น


“อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือ เอเย่นต์ A มอบหมายให้นาย B ที่ได้รับการยืนยันว่า สามารถใช้ licens ของเอเย่นต์ A ในการจัดหาแรงงานต่างด้าวได้ โดยไม่ต้องแจ้งข้อมูลกลับมาที่หน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลหรือไม่ ทั้งนี้ รูปแบบดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเฉพาะฝั่งไทยเท่านั้น ฝั่งเพื่อนบ้านก็มีการทำในลักษณะเดียวกัน ฉะนั้นเท่ากับว่าแรงงานต่างด้าวกว่าจะได้เข้ามาทำงานในไทยอาจต้องจ่ายซ้ำจ่ายซ้อน รวมแล้วมีความเป็นไปได้ที่อาจต้องจ่ายสูงถึง 50,000 บาทต่อหัว”


จัดหางานโขกราคาต่างด้าว


ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตามขั้นตอนการจัดหาแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน บริษัทผู้ได้รับอนุญาตให้จัดหาแรงงานต่างด้าวมีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ไม่เกิน 10,000-15,000 บาทเท่านั้น ประกอบด้วย ค่าหนังสือเดินทาง, ใบขออนุญาตทำงาน และค่าตรวจสุขภาพ รวมถึงค่าประกันสุขภาพเท่านั้น ส่วนกรณีที่มีการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อเข้าไปดำเนินการในการจัดหาแรงต่างด้าวถือว่าผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตเท่านั้นที่จะต้องเป็นผู้จัดหาแรงงานได้


ผู้สื่อข่าวสำรวจแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมก่อสร้างพบว่า บางรายมีการจัดตั้งบริษัทจัดหาแรงงานต่างด้าวเป็นของตัวเอง ส่วนใหญ่ให้ข้อมูลถึงค่าใช้จ่ายที่แบ่งออกเป็น ค่าทำเล่มพาสปอร์ตในกรณีที่เป็นแรงงานต่างด้าวแบบ MOU แบ่งเป็น สัญชาติกัมพูชา ค่าใช้จ่าย 21,000 บาท เมียนมา 20,000 บาท ลาว 18,000 บาท ค่าต่อวีซ่าครบกำหนด 2 ปี 15,000 บาท


นอกจากนี้ยังมีค่าสัญญา หรือ work permit อยู่ที่ 1,900 บาท และค่าจัดทำเล่ม work permit 100 บาทต่อคนต่อปี ค่าต่ออายุทำงาน-พร้อมรายงานตัวทุก 90 วัน 100 บาทต่อคนต่อปี อีกทั้งในกรณีการต่อวีซ่า หากเกินจากกรอบเวลาที่กำหนด ต้องถูกปรับ 2,000 บาท เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงแรงงานได้เพิ่มเงื่อนไขสำหรับแรงงานต่างด้าวจะต้องทำเอกสารเพิ่มถิ่นพำนักในช่วงที่ทำงานในไทย



03/Feb/2020

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา