ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม (justice delayed is justice denied) เฉกเช่นคำขวัญศาลแรงงานที่ว่า "ประหยัด สะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม" ก็ด้วยการตระหนักว่าความยุติธรรมมิใช่เพียงการตัดสินโดยองค์กรตุลาการที่เป็นกลางเท่านั้น หากต้องมิใช่กระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน เพราะคำตัดสินที่มาอย่างเชื่องช้าอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่สนใจต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่ความที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

17 ตุลาคม 2565 : เก็บผลไม้ป่าสวีเดน-ฟินแลนด์ ผลสำรวจชี้มีคนงานไทยเพียง 10 % ที่ทำรายได้ถึงหลักแสน , BBC

กระทรวงแรงงาน เร่งติดตามปัญหาบริษัทนายหน้าส่งแรงงานไทยเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดน ฤดูกาลปี 2565 หลังมีจำนวนหนึ่งเผชิญกับค่าแรงงานและสวัสดิการที่ไม่เป็นธรรม


สัปดาห์ที่ผ่านมา บีบีซีไทยได้พูดคุยกับแรงงานไทย 4 คน จากจำนวน 60 กว่าคนที่ไปทำงานเก็บเบอร์รี่ทางภาคกลางของประเทศสวีเดนอย่างถูกกฎหมายผ่านทางบริษัทนายหน้าที่ชื่อ "สตาร์โรยัล เซอร์วิสเซส" เมื่อช่วงกลางเดือน ก.ค. ถึงปลายเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา


พวกเขาเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดนเป็นครั้งแรก แต่กลับไม่ได้เงินตามที่ระบุไว้ในสัญญาที่มีการประกันรายได้ขั้นต่ำที่เดือนละ 23,183 โครนาสวีเดน (ราว 81,372 บาท) ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ทางการสวีเดนและไทยกำหนดไว้ในการนำคนไปทำงานที่ประเทศสวีเดน


แรงงานไทยที่จัดส่งโดยนายหน้ารายนี้จำนวน 3 คน เดินทางมาที่กระทรวงแรงงาน ในวันนี้ (17 ต.ค.) แต่ตัวแทนนายหน้าของบริษัทสตาร์โรยัล เซอร์วิสเซส ไม่ได้ปรากฏตัว เนื่องจากอ้างว่าติดโควิด  


ปัญหาค่าแรงที่ไม่ได้ตามเป้าหมาย ไม่ใช่แค่เพียงการเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดน แต่ยังรวมถึงในประเทศฟินแลนด์ด้วย


เก็บผลไม้ป่าสวีเดน อาชีพโกยรายได้นับแสน เรื่องเล่าหรือความจริง


นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีแรงงานไทยจำนวนหนึ่งไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดน แต่กลับเผชิญปัญหาที่ได้รับรายได้ไม่เป็นไปตามคาดหวัง และยังเป็นหนี้จากค่าเดินทางและค่าเอกสารทั้งก่อนไปและขณะอยู่ในสวีเดนว่า ตามสัญญาการจัดส่งมีการรับประกันรายได้ แต่ในกรณีนี้ ต้องมีการหารือกับบริษัทตัวแทนนายจ้าง

 

โดยส่วนประเทศสวีเดน มีกฎหมายบังคับในเรื่องของนายจ้างนำพาลูกจ้างไปทำงานในต่างประเทศอยู่แล้ว กรณีเช่นนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สามารถยื่นมือเข้าช่วยเหลือได้หากมีส่วนไหนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

 

ส่วนประเทศฟินแลนด์ไม่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายเรื่องนายจ้างนำพาลูกจ้างไปทำงานในต่างประเทศ ส่วนนี้ทำให้ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ไม่สามารถยื่นมือเข้าช่วยเหลือได้

 

รมว.แรงงาน กล่าวว่า ในส่วนของต่างจังหวัดนั้น จากข้อมูลของกรมคุ้มครองสวัสดิการแรงงาน มีแรงงานไทยเข้ามาร้องเรียนถึงปัญหาเงินประกันรายได้เช่นเดียวกันนี้กว่า 20 ราย พร้อมระบุว่า กฎหมายจัดส่งแรงงานไทยไปสวีเดนมีการร่างสัญญาไว้ตั้งแต่ปี 2552 หลังจากนี้จะมีการดูข้อกำหนดสัญญาให้รัดกุมมากกว่าเดิม

 

"มันเกิดแล้วก็ต้องแก้ นายจ้างก็เหมือนกับอยู่ในสภาพคนกลาง... เราจะไม่บอกว่าใครผิดใครถูก แต่จะหาทางออกให้ เราไม่อยากให้ข่าวออกไปว่าคนไทยไปเก็บเบอร์รี่แล้วโดนโกง ทางกระทรวงก็ปวดใจเหมือนกัน" นายสุชาติกล่าว

 

สำหรับการเก็บผลไม้ป่าที่วสวีเดนและฟินแลนด์ในปี 2565 มีคนงานไทยเดินทางไปทั้งสิ้นราว 10,000 คน แบ่งเป็นสวีเดนกว่า 6,000 คน และฟินแลนด์กว่า 3,600 คน

 

สำหรับเงินประกันรายได้ขั้นต่ำของสวีเดนอยู่ที่ราว 82,000  บาท ส่วนฟินแลนด์อยู่ที่ 30,240 บาท ซึ่งปีนี้มีคนงานไทย 216 คนที่ได้รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่ำกว่ารายได้ขั้นต่ำและอยู่ระหว่างการติดตามเงินชดเชยจากบริษัทนายหน้าจัดส่ง

 

สตาร์โรยัล เซอร์วิสเซส และการเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดน


คนงานไทยที่บีบีซีไทยได้พูดคุย ระบุว่า กลุ่มของพวกเขานั้นมีด้วยกัน 6 คน ซึ่งเป็นผู้ไปทำงานครั้งแรกทั้งหมด และพวกเขาต้องขับรถตระเวนหาเก็บผลไม้กันเองแบบสุ่ม ๆ โดยไม่รู้จักเส้นทาง หรือป่าที่มีผลไม้ให้เก็บ

 

รมว.แรงงาน กล่าวว่า กรณีนี้เป็นปัญหาที่ต้องแจ้งถึงนายจ้างว่า ในการเก็บเบอร์รี่ควรจะต้องมีทั้งแรงงานที่เคยไปทำแล้ว รวมกับแรงงานที่เพิ่งไปครั้งแรกด้วย

 

ส่วนปัญหาที่แรงงานคนไทยกลุ่มนี้พบ บีบีซีไทยได้ข้อมูลว่า พวกเขาได้เซ็นสัญญาจ้างอีกฉบับ นอกเหนือจากฉบับที่มีการร่างสัญญาโดยกรมการจัดหางาน ซึ่งมีการระบุถึงปริมาณผลไม้ป่าที่แรงงานต้องเก็บได้  

 

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรณีฟินแลนด์เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วคนงานได้เงินไม่ถึง 30,040 บาท ก็ต้องนำเงินประกันรายได้คืนให้คนงาน ส่วนประเทศสวีเดนมีสหภาพแรงงานที่กำหนดอัตรารายได้ขั้นต่ำไว้ไม่ต่ำกว่า 82,000 บาท หากหักค่าใช้จ่ายแล้วได้เงินรายได้ไม่ถึงจำนวนนี้ก็จะมีการคืนเงินให้กับลูกจ้าง

 

ส่วนกรณีของบริษัทสตาร์โรยัลฯ วันนี้มีคนงาน 3 ราย มาร้องขอความเป็นธรรม ว่าได้รายได้น้อยไม่ตรงตามสัญญา

 

ทั้งนี้ จากการรับฟังข้อมูลจากบริษัทนายหน้ารายอื่นที่ส่งคนงานไปสวีเดนเช่นกัน พบว่ารายละเอียดของเงินที่เรียกเก็บก่อนเดินทางจำนวน 75,000 นั้น ใกล้เคียงกันทุกบริษัท โดยส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางทั้งตั๋วเครื่องบินไปกลับ ค่าเดินทางในสวีเดน และค่าอาหาร


รัฐจะแก้ไขอย่างไร


อธิบดีกรมการจัดหางานบอกว่า ปัญหาในลักษณะนี้เกิดขึ้นทุกปี แต่ปีนี้ สัดส่วนคนงานที่เดินทางไปราว 95% ไม่ได้มีความรู้ความชำนาญในการเก็บผลไม้ป่า ทำให้เก็บได้น้อยส่งผลให้รายได้ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ โดยฤดูกาลปี 2564 มีคนงานไทยมาร้องเรียนกรณีนี้ราว 125 คน ซึ่งได้เรียกนายจ้างหรือนายหน้ามาไกล่เกลี่ยจนมีข้อยุติทุกราย ส่วนปีนี้มีตัวเลขราว ๆ เกือบ 200 คน


"ทุกคนตั้งความหวัง ว่าจะมีรายได้หลักแสนบาทขึ้นไป แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือน้อยก็มีการมาร้องทุกข์ที่กระทรวง ซึ่งได้ชี้แจงแล้วว่า ค่าใช้จ่ายที่เสียไป ผู้รับผิดชอบจะมีการเคลียร์ค่าใช้จ่าย ก่อนที่จะมีการฟ้องร้องต่อไป"


สำหรับตัวเลขบริษัทนายหน้าจัดส่งสวีเดนมีจำนวนทั้งสิ้น 14 บริษัท มีคนงานร้องทุกข์เรื่องเงินประกันรายได้ 7 บริษัท


อย่างไรก็ตาม นายไพโรจน์กล่าวว่ามาตรการป้องกันปีหน้า กรมการจัดหางานจะตรวจดูสัญญาก่อนส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศ ปรับปรุงเรื่องสัญญาจ้างเพื่ออุดช่องว่างของปัญหาดังกล่าว รวมทั้งกรณีปัญหาการบาดเจ็บและปัญหาที่แรงงานไทยรายหนึ่งที่เดินทางไปทำงานผ่านนายหน้าบริษัทสตาร์โรยัล ได้รับการบาดเจ็บที่ขาและบวมเป็นสัปดาห์ แต่เมื่อร้องขอให้หัวหน้าแคมป์พาไปรักษาก็อ้างว่าไม่มีรถและหมอไม่เดินทางมาแล้ว


"เรามีจุดบอดในเรื่องการดูสัญญา ปีหน้าทางกรมการจัดหางานจะร่วมมือกับทุกส่วนเพื่อดูสัญญาจ้างก่อนที่จะส่งแรงงานไทยไปทำงาน เพื่อให้รัดกุมในข้อกฎหมายไม่ให้มีปัญหาเหมือนในปีนี้"


ส่วนเรื่องรายละเอียดสัญญาการทำงานกรณีบริษัทสตาร์โรยัลฯ นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า หากเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและเกินความจริง มีการกำหนดรายละเอียดที่ผิดแผกแตกต่างจากกรมการจัดหางาน ทางกรมฯ จะเร่งดำเนินการตามกฎหมาย


ข้อมูลอีกด้านจากบริษัทนายหน้าส่งคนงานเก็บเบอร์รี่


ในการเรียกบริษัทนายหน้าหารือวันนี้ บริษัทที่ตกเป็นข่าวไม่ได้เดินทางมาด้วย แต่บริษัทนายหน้ารายอื่นที่ส่งคนงานไปสวีเดนเช่นกัน ได้ให้รายละเอียดการจัดส่งว่า ค่าใช้จ่ายก่อนเดินทางทุกบริษัทจะใกล้เคียงกันอยู่ที่ 75,000 บาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายขณะเดินทางคือ ช่วงระยะเวลาที่อยู่ในสวีเดน 60 วัน ซึ่งเป็นค่าอาหาร ค่าน้ำมัน และค่าใช้จ่ายเดินทางอื่น ๆ

 

รัฐธรรมนูญ มีระหันนอก ตัวแทนจัดหางานบริษัท เฟรนด์เบอร์รี่ จำกัด ซึ่งปีนี้จัดส่งคนงานไปสวีเดน  1,107 คน บอกว่าจำนวนเงิน 75,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายตั๋วเครื่องบินไปกลับ ค่าเอกสารวีซ่า ซึ่งอัตรานี้ใกล้เคียงกันทุกบริษัท สำหรับบริษัทของเขาแจกจงเป็นค่าใช้จ่ายการเดินทาง ค่าจ้างแม่ครัว ช่างซ่อมรถ และหัวหน้าแคมป์ด้วย

 

เขาบอกว่า โดยทั่วไปแล้ว แรงงานไม่ได้มีเงินสดจ่ายให้ก่อนเดินทางมากขนาดนั้น บางรายอาจจ่ายได้ 10,000 บาทและกู้จากธนาคารส่วนหนึ่ง ขั้นตอนของบริษัท เฟรนด์เบอร์รี่ จะหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดคืนเมื่อคนทำงานทำเงินได้เมื่อจบฤดูกาล โดยจะหักในงวดสุดท้าย ส่วนสัญญาจ้างว่าจะต้องเก็บได้จำนวนกี่กิโลนั้นไม่มี มีเฉพาะการประกันรายได้

 

รัฐธรรมนูญเห็นด้วยว่า กรณีที่เป็นข่าว เป็นเพราะไม่มีคนงานเก่าที่เคยไปเก็บเบอร์รี่แล้วร่วมในกลุ่มด้วย ทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งที่รายได้ไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งการสื่อสารระหว่างบริษัทและคนงานต้องทำให้เข้าใจแต่ต้นถึงวิธีการได้มาซึ่งเงินได้ นอกจากนี้การคัดเลือกหรือจัดทีมคนงานจะต้องดำเนินการตั้งแต่ประเทศไทย ส่วนจะเก็บได้มากน้อยยังขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่เพราะเบอร์รี่เป็นผลไม้ที่ขึ้นตามธรรมชาติ

 

“ต่างภูมิภาคต่างแคมป์ต่างโซนจะได้ไม่เหมือนกัน” รัฐธรรมนูญ กล่าว

 

“การจะหาคนงาน ต้องเริ่มตั้งแต่หมู่บ้านให้มีคนเก่าไปด้วย... ต้องมีคนเก่าที่รู้ป่า ถึงจะได้ผลไม้มาจัดไปจากเมืองไทย ปัญหาก็จะน้อยลง”

 

ด้านวศินพัตร์ นวสมิตวงศ์ ตัวแทนจัดหางานจากบริษัท เกรตเบอร์รี่ จำกัด เปิดข้อมูลค่าใช้จ่ายให้ดูว่า ค่าใช้จ่ายก่อนเดินทางอยู่ที่ 75,000 บาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายขณะเดินทาง 60 วัน ตกอยู่ที่กว่า 55,000 บาท เบ็ดเสร็จ อยู่ที่ราว 130,000 บาท

 

วศินพัตร์ บอกด้วยว่า การเก็บ คลาวด์เบอร์รี่ หรือยูร์ตรอนที่กลุ่มแรงงานไทยร้องทุกข์นั้น เป็นผลไม้ที่เก็บได้ยาก เนื่องจากอยู่บนผิวน้ำ ต้องเหยียบย่ำหญ้าเปียกน้ำความสูงราวหน้าแข้งลงไปเก็บ เป็นสภาพพื้นที่ที่หากร่างกาย ก็จะทำให้เก็บได้ปริมาณไม่มาก


ส่วนตัวแทนนายหน้าอีกราย เล่าด้วยว่า การเดินทางไปเก็บเบอร์รี่นั้นจะให้ได้รายได้ที่ดีกลับมา ใน 60 วัน ต้องเก็บให้ได้ 3 ตัน หรือเฉลี่ยแล้วอยู่ที่วันละ 50 กิโลกรัม


เปิดรายได้เก็บผลไม้ป่าคนไทยที่ฟินแลนด์-สวีเดนฤดูกาล 2022  


ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานที่บีบีซีไทยได้รับ ถึงตัวเลขรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายงานเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศฟินแลนด์และสวีเดนฤดูกาลปี 2022 จากจำนวน 10,416 ราย โดยมีคนงานไทยตอบแบบสำรวจรายได้ 6,250 คนนั้น พบว่า ผู้ที่ได้รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 100,000 บาทขึ้นไป มีจำนวนกว่า 10%  หรือจำนวน 649 คน ขณะที่แรงงานเกือบครึ่งหนึ่งที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่า จะมีรายได้อยู่ที่ 30,000-50,000 บาท

 

100,000 บาทขึ้นไป  จำนวน 649 คน คิดเป็น 10.38%


50,001-99,999 บาท จำนวน 2,535 คน คิดเป็น 40.56%


30,000-50,000 บาท จำนวน 2,863 คน คิดเป็น 45.81%


ต่ำกว่า 30,000 บาท จำนวน 203 คน คิดเป็น 3.25%  


ตัวเลขเฉพาะประเทศฟินแลนด์ฤดูกาล ปี 2022 มีทั้งสิ้น 3,622 คน  มีรายได้ต่ำกว่าอัตรารายได้ขั้นต่ำ 30,240 บาท รวม 216 คน

 

คนงานเก่า 2,301 คน มีรายได้ต่ำกว่า 30,240 บาท จำนวน 40 คน หรือคิดเป็น 1.74%


คนงานใหม่ 1,361 คน มีรายได้ต่ำกว่า 30,240 บาท จำนวน 176 คน หรือคิดเป็น 12.93%



17/Oct/2022

เกาะติดข่าวกฎหมาย

>> อ่านต่อ

บทความพิเศษ

 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร 7 มีนาคม 67 : ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร

ผ่อนรถไม่ไหว อยากจะคืนรถทำอย่างไร   ทนายพรนารายณ์ ทุยยะค่าย 6 มีค. 67   &nb...

UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH UPDATE 16-02-66: การแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมการทำงานนอกสถานที่ทำงาน , THE STANDARD WEALTH

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานที่ลูกจ้างสามารถทำงานที่บ้านมากขึ้น...

>> บทความอื่นๆ

กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
พระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมจัดหางาน
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
สำนักงานประกันสังคม
สำนักแรงงานสัมพันธ์
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
ศาลแรงงานกลาง
คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา