17/05/24 - 14:10 pm


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - ทนายพร

หน้า: 1 ... 45 46 [47] 48 49 50
691
ในคดีอาญานั้นเมื่อท่านถูกจับดำเนินคดีไม่ว่าจะในฐานะผู้ต้องหาหรือจำเลย เมื่อถูกตำรวจจับกุม ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคำของผู้ต้องหาอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้

สำหรับคำรับสารภาพของผู้ต้องหาว่าตนได้กระทำความผิดในชั้นจับกุมนั้น กฎหมายห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน และหากผู้ต้องหาจะให้การใหม่หรือกลับคำให้การเมื่อใดก็ได้อีกเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามการกลับคำให้การของผู้ต้องหาจะต้องมีเหตุผลหรือหลักฐานสนับสนุนว่า เหตุใดจึงกลับคำให้การเช่นนั้น หากผู้ต้องหาหรือจำเลยให้การกลับไปกลับมาจะเป็นผลร้ายต่อผู้ต้องหามากกว่าผลดี

ดังนั้นก่อนจะให้การต่อสู้คดี ผู้ต้องหาควรจะปรึกษาหารือกับทนายความไว้ก่อน และสิ่งที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยกล่าวอ้างต้องไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอย สามารถพิสูจน์และนำมาสู้คดีได้ เพราะมิฉะนั้นแล้ว ศาลจะไม่รับฟังคำให้การ

สิ่งที่นำมากล่าวอ้างในการสู้คดีนั้น ต้องสามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้อย่างเพียงพอทีเดียวจึงจะชนะคดี

หลังจากพนักงานตำรวจส่งตัวผู้ต้องหาฟ้องต่อศาลแล้ว ในวันส่งฟ้อง ศาลจะสอบถามคำให้การว่าจำเลยจะรับสารภาพหรือปฎิเสธ

หากจำเลยรับสารภาพ หากเป็นคดีเล็กน้อยศาลก็จะมีคำพิพากษาได้ทันที ถ้าคำพิพากษาไม่เป็นไปตามที่จำเลยคาดหวัง จำเลยเปลี่ยนใจกลับมาต่อสู้คดีอีก พบว่าส่วนใหญ่มักจะเป็นไปตามคำตัดสินเดิมนั้น แต่หากจำเลยปฏิเสธก่อนเพื่อมีโอกาสได้พบหรือปรึกษาทนายความก่อนน่าจะเป็นผลดีต่อตัวจำเลยเองมากกว่า

การที่จำเลยได้พบหรือรับการปรึกษาจากทนายความก่อนที่จะให้การต่อศาล จะเป็นหลักประกันหนึ่งที่จะให้ความเป็นธรรมต่อจำเลยได้ ดังนั้นแนะนำเบื้องต้นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยควรได้พบหรือรับคำปรึกษาจากนักกฎหมายหรือทนายความเสียก่อน

หากจำเลยกระทำความผิดจริงเพื่อประโยชน์ของจำเลยเอง หากรับสารภาพในภายหน้าก็ไม่เสียหายอะไร กลับเป็นผลดีต่อตัวจำเลยด้วยซ้ำ เพราะอย่างน้อยทนายความจะได้มีโอกาสยื่นคำร้อง คำแถลงเกี่ยวกับข้อเท็จจริงเหตุอันจำเป็นต่างๆ เพื่อประกอบคำรับสารภาพได้ ซึ่งคำแถลงประกอบคำรับสารภาพนี้ค่อนข้างมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ศาลเมตตาลดโทษหรือรอการลงโทษจำเลย

ดังนั้นก่อนที่ท่านจะให้การใดๆไม่ว่าปฎิเสธหรือรับสารภาพ ควรได้รับคำปรึกษาอย่างถูกต้องจากทนายความหรือนักกฎหมายที่น่าเชื่อถือก่อน ไม่เช่นนั้นแล้วปัญหาต่างๆ แทนที่จะแก้ไขหรือคลี่คลายออกไป กลับอาจพอกพูนขึ้นจนแก้ไขไม่ได้อีกต่อไปครับ


692
ผู้เสียหายที่เป็นคนจนไม่มีเงินไปจ้างทนายความหรือวางเงินประกันที่ศาล สามารถเข้าไปขอความช่วยเหลือและขอคำปรึกษาได้จากนิติกรของศาลโดยตรง หรือที่ทำการสภาทนายความประจำจังหวัดนั้นๆ โดยบุคคลที่สภาทนายความจะเข้าช่วยเหลือเรื่องว่าความแก้ต่างให้นั้น ต้องเป็นผู้ยากจนและไม่ได้รับความยุติธรรมเท่านั้น การขอรับบริการจากสภาทนายความตามที่กล่าวมานี้ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด   

สำหรับการติดต่อสภาทนายความส่วนกลาง ติดต่อได้ที่สภาทนายความ 7/89 อาคาร 10 ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 โทรศัพท์ 0-2629-1430 ต่อ 129

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา 155  เรื่องขอยกเว้นค่าธรรมเนียม  และถ้าศาลเชื่อว่าเป็นคนจนจริงก็จะอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 ด้วยเช่นเดียวกันครับ


693
ได้หมดครับ แต่ต้องอธิบายปัญหาและให้รายละเอียดให้ชัดเจนด้วยครับ จะได้วิเคราะห์และเสนอแนวทางแก้ไขได้ถูกต้อง

694
ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า ทรัพย์มรดกหรือกองนั้นคืออะไร?

กองมรดกคือทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน บ้าน เสื้อผ้า หรือแม้แต่ของใช้ส่วนตัว ซึ่งเมื่อบุคคลใดตายแล้วย่อมอยู่ในความหมายของกองมรดกด้วย นอกจากทรัพย์สินแล้ว ยังรวมถึงบรรดาสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในวันที่ตายหรือที่จะมีขึ้นในวันข้างหน้าภายหลังจากที่ตายแล้วด้วย เช่นทำสัญญาเช่าบ้านมีกำหนดสิบปี เช่าไปได้สองปีแล้วเกิดตายลง สิทธิที่จะเช่าบ้านนั้นต่อไปอีก 8 ปี ก็จะตกเป็นกองมรดก ในขณะเดียวกันหน้าที่หรือความรับผิดในการชำระค่าเช่าที่ค้างอยู่ก็ดี หรือที่จะชำระต่อไปในวันหน้าก็ดี ล้วนตกเป็นกองมรดกด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งที่กล่าวมานี้ก็คือกองมรดกครับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นทรัพย์มรดกก็ย่อมตกได้แก่ทายาท ดังนั้น เมื่อทายาทคนใดมีสิทธิได้รับมรดกแค่ไหนเพียงใดนั้นก็จะต้องมาทำการตกลงกัน หากเป็นทรัพย์ที่ต้องจดทะเบียนก็จะต้องไปดำเนินการทางทะเบียนด้วยเช่น ที่ดิน เป็นต้น ซึ่งโดยปกตินั้น ก็จะต้องมีทายาทไปร้องขอต่อศาลเพื่อขอเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อดำเนินการแบ่งปันมรดกในระหว่างทายาทต่อไปครับ

ทีนี้ที่บอกว่าโกงไปนั้น คือโกงอย่างไรครับ เอาโฉนดไปจำนำ , แอบเอาไปขายโดยเราไม่รู้  หรือน้องชายไม่ยอมแบ่งให้ หรือน้องชายไปกู้เงินคนอื่นเค้าแล้วเอาโฉนดไปให้คนกู้ยึดถือไว้ หรืออย่างไรครับ? อันนี้ต้องขอข้อมูลเพิ่มเติมครับ เพื่อจะได้ตอบได้แบบ “ฟันธง” ครับ..

695
วันนี้ทนายได้ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์กรณีที่พ่อของคนที่โทรศัพท์มา ได้ไปค้ำประกันกู้เงินซื้อบ้านให้ลูกของเพื่อนพ่อที่สนิทกัน โดยมีการทำสัญญาผ่อนกับธนาคารทุกเดือน ต่อมาลูกของเพื่อนพ่อไม่ชำระค่างวด  ธนาคารจึงแจ้งให้ไปชำระค่างวด แต่ก็ไม่มีการไปชำระแต่อย่างใด จนธนาคารดำเนินการฟ้องร้องคดี  และมีหมายศาลมาถึงพ่อ ในกรณีเช่นนี้จะต้องทำอย่างไร


ทนายได้ให้คำแนะนำไปว่าในกรณีเช่นนี้ พ่อต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า “ลูกของเพื่อนพ่อ” คนนี้ มีทางที่จะชำระหนี้ได้ แต่ที่ผ่านมาเลือกที่จะไม่ยอมชำระ เพื่อทำให้ศาลเห็นความสามารถในการชำระเงินของลูกหนี้ที่แท้จริง

696
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: สอบถามเรื่องรถชน
« เมื่อ: สิงหาคม 20, 2014, 02:14:30 pm »
จากที่บรรยายมาว่า “ผมขับรถยนต์บนถนนสี่เลนส์อยู่ที่เลนส์ซ้ายสุด ตีมากับรถจักรยานยนต์” แสดงว่า รถจักรยานยนต์ขับบนไหล่ทางใช่หรือไม่ครับ?
อย่างไรก็ตาม ถ้าดูตามเนื้อเรื่องแล้วเนี๊ยะ ถือว่าคุณเป็นคนดีที่น่านับถือนะครับที่เห็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันบาดเจ็บและได้รับความเดือดร้อน จึงได้เอื้อมมือให้ความช่วยเหลือไปโดยไม่คิดอะไรมาก และผมคิดว่าผลของการคิดดี ทำดีก็คงส่งผลให้เรื่องนี้ตกลงกันได้ด้วยความเห็นอกเห็นใจต่อกันนะครับ
เอาละครับ จากที่เล่ามาแสดงว่า ผมขอตอบตามคำถามเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ
๑.   “แต่คู่กรณีไม่มีท่าทียอมรับข้อเสนอตามที่เราชดใช้ได้ การดำเนินการขั้นต่อไปทางตำรวจต้องเป็นคนชี้ว่าฝ่ายไหนผิดใช่มั้ยครับ”  เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะเรียกทั้งสองฝ่ายมาตกลงกันอีกครั้ง ซึ่งหากตกลงกันไม่ได้ก็จะทำการสอบสอนและแจ้งข้อกล่าวหาว่าใครเป็นคนผิด(หรือประมาทร่วม) แล้วดำเนินการไปตามรูปคดีครับ
๒.   “ลักษณะการชนคือท้ายรถของผม โดยถนนคือการเข้าโค้งด้านขวา ผมได้เปรียบหรือเสียเปรียบอะไรจากกรณีนี้บ้างหรือไม่”  ถ้าพิจารณาจากเนื้อเรื่องที่เล่ามานี้ก็เห็นว่ารถคุณโดนชนครับ แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องมีหลักฐานประกอบในการพิจารณาอีกชั้นหนึ่งครับ เช่น รูปถ่ายสถานที่เกิดเหตุ,รูปรถ อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้น จึงจะฟันธงยากอยู่ครับ ต้องพิจารณาจากข้อมูลเพิ่มมากกว่านี้ครับ
๓.   “การที่ยอมรับผิดกับประกันในขั้นแรกทำให้เสียเปรียบหรือไม่กรณีหากไม่มีการยอมความกันจริงๆและต้องฟ้องศาลต่อไป” คงต้องดูตามข้อ ๑ ก่อนนะครับ หากเป็นประมาทร่วมก็ไม่ถือว่าเสียเปรียบครับ
๔.   “ผมเข้าใจว่าการยอมความเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่การรับผิดชอบเกินกว่าขอบเขตที่เหมาะสมผมก็ไม่ค่อยเห็นด้วยครับ” อันนี้เห็นด้วยครับ และผมเชื่อมั่นว่า หากเราคิดดี ทำดี สิ่งดีๆก็จะตามมาครับ

697

สำหรับท่านที่ไม่สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มศาลยุติธรรมได้จากหน้าเวบไซด์โดยตรง ท่านสามารถดาวน์โหลดได้จากที่นี่อีกช่องทางหนึ่งครับ

http://www.trachu.com/index.php?module=download&op=list&type=25

แบบฟอร์มศาลใช้ Font TH SarabunPSK ทุกท่านต้องติดตั้ง Font นี้ในเครื่องก่อน ถึงจะสามารถ download แบบฟอร์มออกมาใช้ได้

698
ไม่ต้องมีครับ นอกจากว่านายจ้างจะมอบหมายให้บุคคลอื่นพาแรงงานข้ามชาติไปขึ้นทะเบียนแทน ต้องมีใบมอบอำนาจจากนายจ้างแนบประกอบไปด้วย พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจครับ

699
ส่วนใหญ่เด็กที่ถูกใช้ให้ล่อซื้อตำรวจจะไม่ส่งฟ้องครับ หรือกันเป็นพยาน หรือหากถูกฟ้องก็ต้องหาทนายความที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ดำเนินการให้ครับ ซึ่งประเด็นนี้ก็สามารถยกขึ้นต่อสู้ในชั้นศาลได้ครับ และส่วนมากจะหลุดครับ

700
คำถาม 1 กรรมทางต้องตั้งกรวย แจ้งเตือน ก่อนกี่เมตร กลางวัน
ตามข้อกำหนดการควบคุมการจราจรพื้นที่ก่อสร้าง กรมทางหลวง ได้กำหนดระยะตั้งป้ายเตือนล่วงหน้าไว้แตกต่างกันตามประเภทและระยะเวลาของการปฎิบัติงาน โดยกำหนดระยะตั้งแต่ 100-500 เมตร ซึ่งหากเป็นงานระยะสั้นและเป็นเวลากลางวัน ซึ่งผู้ขับขี่มองเห็นการทำงานในระยะทางไกล สามารถติดตั้งป้ายสัญลักษณ์ในระยะห่าง 100 เมตรได้ครับ
2 ตามกฎหมายไทย รถด้านขวาต้องมีเหตุให้แซง ถึงจะอยู่เลนด้านขวาใช่ไหมครับ
โดยปกติการขับรถต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทั้งกับยวดยานพาหนะและบุคคลเดินเท้า อย่างไรก็ดี มีข้อยกเว้นในมาตรา 34 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 กำหนดไว้ดังนี้
มาตรา 34 ในการใช้ทางเดินรถที่ได้จัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียว กันไว้ตั้งแต่สองช่องขึ้นไป หรือที่ได้จัดช่องเดินรถประจำทางไว้ในช่องเดิน รถซ้ายสุด ผู้ขับขี่ต้องขับรถในช่องซ้ายสุดหรือใกล้กับช่องเดินรถประจำทาง เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ ให้เดินทางขวาของทางเดินรถได้
(1) ในช่องเดินรถนั้นมีสิ่งกีดขวางหรือถูกปิดการจราจร
(2) ทางเดินรถนั้นเจ้าพนักงานจราจรกำหนดให้เป็นทางเดินรถทางเดียว
(3) จะต้องเข้าช่องทางให้ถูกต้องเมื่อเข้าบริเวณใกล้ทางร่วมทางแยก
(4) เมื่อจะแซงขึ้นหน้ารถคันอื่น
(5) เมื่อผู้ขับขี่ขับรถด้วยความเร็วสูงกว่ารถในช่องเดินรถด้านซ้าย
ด้วยเหตุดังกล่าวตามข้อ (1) – (5 ) ก็เป็นเหตุยกเว้นได้ครับ โดยเฉพาะ(5) ถ้าขับเร็วกว่าก็อยู่เลนขวาได้ครับ ทั้งนี้ความเร็วต้องไม่เกินกว่ากฎหมายกำหนดนะครับ มิเช่นนั้นก็จะโดนจับความเร็วอีกกระทงครับ
3 รถด้านซ้าย ผิดเสมอ หรือครับ เพราะตามกฎหมาย ให้รถ ทุกคน ที่ไม่ทำการแซง ต้องอยู่เลนด้านซ้าย ใช่หรือไหมครับ
จะตอบว่าผิดทุกคันก็คงไม่ใช่อ่ะครับ ต้องดูพฤติการณ์เป็นกรณีๆไป เช่น หากขี่ๆมาแล้วเปลี่ยนเลนกะทันหันโดยไม่เปิดไฟสัญญาณให้รถคันหลังได้ทราบ ดังนี้ก็มีความผิดครับ

701
ก่อนที่จะตอบคำถามต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสินส่วนตัวกับสินสมรสก่อนนะครับ
ซึ่งผู้ร่างกฎหมายเล็งเห็นแล้วว่า เรื่องนี้น่าจะเกิดปัญหาในอนาคตแน่ กฎหมายจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆของสินส่วนตัวและสินสมรสเพื่อไม่ให้เกิดการยื้อแย่งกันแม้แต่ของใช้ส่วนตัว จึงได้กำหนดรายละเอียดเลยครับว่าสินส่วนตัวได้แก่อะไรบ้างและสินสมรสได้แก่อะไรบ้าง ดังนี้ครับ
 สินส่วนตัว มี 4 ประเภท คือ
1) ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส เช่น บ้าน ที่ดิน เงินทอง
2) ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือได้มาโดยเสน่หา
3) ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย เครื่องมือประกอบอาชีพ
4) ทรัพย์สินที่เป็นของหมั้นจะถือเป็นสินส่วนตัวของผู้หญิง
และส่วนสินสมรสแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ
1) ทรัพย์ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส เช่น เงินเดือน โบนัส
2) ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาโดยพินัยกรรมโดยระบุว่าให้เป็นสินสมรส และ
3) ทรัพย์สินที่เป็นกำไรสุทธิหรือดอกผลของสินส่วนตัว

ดังนั้น ทรัพย์สินใดที่เป็นสินสมรสทั้งสองฝ่ายต้องจัดการร่วมกันครับ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะแอบดำเนินการเพียงลำลังไม่ได้ครับ

เช่นฝ่ายชายจะซื้อบ้านหลังใหม่เป็นชื่อฝ่ายผู้ชายแต่ผู้เดียว ชายคนนี้จะเที่ยวเอาไปขายตามลำพังโดยไม่ได้รับความยินยอมจากฝ่ายหญิงก็ไม่ได้เพราะมันเป็นสินสมรส เวลาจะขายต้องให้ภรรยายินยอม หากภรรยาไม่ยินยอมก็ขายไม่ได้ครับเพราะสินสมรสต้องจัดการร่วมกัน

แต่ทรัพย์สินบางอย่างแม้ว่าจะได้มาระหว่างแต่งงานแต่ก็ไม่ใช่สินสมรส เช่น แม่ของฝ่ายชายเสียชีวิตทำให้มีมรดกตกทอดมายังฝ่ายชายเป็นที่ดิน 100 ไร่ ที่ดินแปลงนี้เป็นที่ดินมรดกตกแก่ฝ่ายชายถือเป็นสินส่วนตัว ฝ่ายหญิงจะมาขอแบ่งก็ไม่ได้เลยครับ ยกเว้นแต่ว่าก่อนตายคุณพ่อฝ่ายชายทำพินัยกรรมแล้วระบุว่าที่ดิน 100 ไร่นี้ให้ตกเป็นสินสมรสของทั้งคู่ครับ

โดยสรุป สินสมรสก็คือทรัพย์สินที่ทำมาหาได้มาในระหว่างแต่งงาน ต้องใช้แรงงานแรงกายหรือต้องทำงานครับ ถ้าได้มาอย่างนี้เป็นสินสมรส แต่ถ้ามีคนยกให้ฟรี ๆ หรือได้รับมรดกถือเป็นสินส่วนตัว
จากคำถามขอตอบดังนี้ครับ
1.   หากพ่อกับแม่จดทะเบียนสมรสและยังไม่ได้หย่ากันทรัพย์ที่หามาได้ก็ถือเป็นสินสมรสครับ
2.   พ่อใส่ชื่อภรรยาน้อยเป็นเจ้าของ?...ต้องดูว่าเงินที่ได้มาจากการไปซื้อทรัพย์สินนั้นได้มาอย่างไร หากเป็นสินส่วนตัวของพ่อ(ตามข้อกฎหมายข้างต้น) พ่อก็สามารถทำการจำหน่ายจ่ายแจกไปโดยลำพังได้ครับ...หากเป็นสินสมรสก็ต้องได้รับความยินยอมจากแม่ครับ
3.   ถ้าพ่อผมเสียชีวิตลง แม่ผม มีสิทธิ์ฟ้องร้องเรียกเอาทรัพย์สินเหล่านั้นคืนมาได้หรือไม่? ..ได้หรือไม่ได้ให้ดูที่ข้อ 2 ครับ ถ้าเป็นสินสมรสก็ฟ้องขอแบ่งได้ครับ
4.   บุตรที่เกิดจากภรรยาน้อย จะมีสิทธิ์ในกองมรดกของบิดาในส่วนใดบ้าง?...บุตรที่เกิดมาจากบิดาย่อมได้สิทธิในกองมรดกของบิดาตามส่วนในฐานะบุตรครับ ทั้งนี้ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายหรือที่ได้รับการรับรองแล้วว่าเป็นบุตรของบิดาครับ

702
คำพิพากษาที่ 1115/2541 ให้แนวทางไว้ว่า

ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า ความเป็นเจ้าของต้องพิจารณาจากแนวเขตที่ดิน ที่ทั้งสองฝ่ายยึดถือครอบครอง

น.ส.๓ ก.ของจำเลยเป็นเพียงคำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดิน แล้วเท่านั้น ไม่ก่อให้เกิดสิทธิในที่ดินส่วนที่มิได้ยึดถือครอบครอง จำเลยจึงไม่มีสิทธิในที่ดิน น.ส.๓ ก.ด้านทิศตะวันออกที่อยู่นอกเขตการยึดถือครอบครองของฝ่ายจำเลย

และเมื่อโจทก์และจำเลยต่างครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของตน ดังนี้ ที่ดินตาม น.ส.๓ ก. ในส่วนที่จำเลยมิได้ยึดถือครอบครองจึงเป็นที่ดินของโจทก์ จำเลยคงเป็นเจ้าของที่ดินเฉพาะส่วนที่จำเลยยึดถือครอบครองในกรอบเส้นสีดำประ ในแผนที่พิพาท

ศาลจึงชอบที่จะพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส.๓ ที่พิพาทในกรอบเส้นสีแดงดำในแผนที่พิพาท เว้นแต่ที่ดินในกรอบเส้นสีดำประ และให้เพิกถอน น.ส.๓ ก.ของจำเลยด้านทิศตะวันออกเฉพาะส่วนที่โจทก์ครอบครองที่ดิน กับห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์



703
พอดีได้รับคำถามเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำ เลยนำมาแจ้ง ณ ที่นี้ครับ


การเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำ ให้ดำเนินการดังนี้

1. เขียนรายละเอียดต่างๆให้ครบถ้วน โดยเฉพาะหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ลงในแบบฟอร์มใบเยี่ยมญาติที่เรือนจำจัดเตรียมไว้ให้ เสร็จแล้วส่งมอบให้เจ้าหน้าที่พร้อมบัตรประชาชนหรือใบขับขี่

เรือนจำจะเปิดทำการเวลา 08.00 น. ณ จุดกรอกเอกสารการขอเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังเปิดตั้งแต่เวลาประมาณ 07.45 น. และปิดห้องเยี่ยมเวลา 15.00 น. (ควรไปก่อนเวลา 14.30 น.) ทั้งนี้แต่ละเรือนจำมีการกำหนดวัน เวลาเยี่ยมและรายละเอียดผู้เข้าเยี่ยมได้ที่แตกต่างกัน


2. นำแบบฟอร์มที่กรอกพร้อมกับบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรที่ทางราชการออกให้ ตามจำนวนคนเข้าเยี่ยม ไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่ตรวจเอกสาร รอฟังรายชื่อและเข้าเยี่ยมภายในห้องเยี่ยมที่เรือนจำกำหนด คือห้องเยี่ยมโดยเจ้าหน้าที่จะดูแลอยู่ไม่ห่าง


สำหรับผู้ขังที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดีของศาล เพื่อพบทนายความ หรือในชั้นตำรวจฝากขังระหว่างสอบสวนคดี ทางเรือนจำจะจัดพื้นที่ให้ตามความเหมาะสมโดยเฉพาะ


3. เมื่อเยี่ยมเสร็จแล้ว ให้ไปรับใบฝากเงินและฝากสิ่งของกับเจ้าหน้าที่ เพื่อนำไปซื้อสิ่งของจากร้านสงเคราะห์ของเรือนจำฯ (สินค้าที่ซื้อจากร้านค้าของเรือนจำฯ ห้ามเปิดหรือฉีกถุงที่บรรจุแล้วโดยเด็ดขาด) และฝากเงินที่ช่องฝากเงิน แล้วนำสิ่งของฝากที่ช่องฝากส่งของ



กำหนดวันและเวลาเยี่ยม



1.  วันจันทร์ – ศุกร์ รวมทั้งวันหยุดนักขัตฤกษ์  เว้นวันเสาร์ – อาทิตย์
2.   ผู้ต้องขังออกรับการเยี่ยมญาติได้คนละ 1 ครั้ง/วัน ครั้งละประมาณ 15-20 นาที
3.   เวลาเยี่ยม ภาคเช้าเวลา 08.30 – 12.00 น. ภาคบ่ายเวลา 13.00 – 15.00 น.

 

การฝากสิ่งของ



เรือนจำได้จัดร้านค้าสงเคราะห์ฯ ไว้บริเวณหน้าเรือนจำ (หน้าห้องเยี่ยมญาติ) เพื่อจำหน่ายสิ่งของต่างๆ ในราคาปกติ และสิ่งของที่ซื้อจากร้านค้าฯ ของเรือนจำจะใส่ถุงพลาสติกปิดผนึกอย่างดี ทำให้ฝากส่งให้แก่ผู้ต้องขังได้อย่างรวดเร็ว หากท่านนำสิ่งของต่างๆ มาจากที่อื่น ทางเรือนจำจะทำการตรวจค้นสิ่งของนั้นๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อป้องกันการซุกซ่อนลักลอบนำสิ่งของต้องห้ามนำเข้าภายในเรือนจำ


ข้อห้ามต่างๆ


1.  สิ่งของต้องห้ามที่ไม่อนุญาตฝากให้แก่ผู้ต้องขัง

1.1   ฝิ่น กัญชา ยาเสพย์ติด หรือของมึนเมาอย่างอื่น
1.2   สุรา หรือน้ำเมาซึ่งดื่มได้เมาเหมือนสุรา
1.3   เครื่องอุปกรณ์สำหรับเล่นการพนัน
1.4   เครื่องอุปกรณ์ในการหลบหนี
1.5   ศัตราวุธ
1.6   ของเน่าเสีย หรือของมีพิษต่อร่างกาย
1.7   วัตถุระเบิด หรือน้ำมันเชื้อเพลิง
1.8   สัตว์มีชีวิต


2.  ห้ามถ่ายภาพ, วีดีโอ, วีดีทัศน์, ภาพยนตร์

3.  ห้ามใช้เครื่องบันทึกเสียง และสัมภาษณ์ผู้ต้องขัง

4.  ห้ามพกอาวุธทุกชนิด

5.  ห้ามใช้โทรศัพท์ขณะเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง


การปฏิบัติตนในการติดต่อราชการเรือนจำ

1.  แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย

2.  เมื่ออยู่ภายในเรือนจำฯ ต้องอยู่ในความสงบ

3.  ติดต่อเจ้าหน้าที่เรือนจำฯ โดยตรง


4. ระวังบุคคลภายนอกแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของเรือนจำฯ หรือกรมราชทัณฑ์รับอาสาหรือหลอกลวงว่าสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ต้องขังญาติของท่านได้ โดยเรียกร้องเงินเป็นค่าตอบแทน อย่าได้หลงเชื่อ ท่านจะสูญเสียเงินเปล่า   
 

หากสงสัยหรือไม่ได้รับความสะดวกประการใดในการติดต่อราชการเรือนจำให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ฯ หรือผู้บัญชาการเรือนจำฯ โดยตรง


704
ทนายขอตอบดังนี้นะครับ


หลักวิชาชีพนักกฎหมาย (legal ethics) ในประเทศที่ใช้กฎหมายระบบคอมมอนลอว์ ได้แก่ ประเทศอังกฤษ ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศต่างๆที่เคยอยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ  ประเทศเหล่านี้ใช้ระบบกฎหมายของอังกฤษ คือ ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์


ลักษณะเฉพาะของระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ คือ


•   คำพิพากษาเป็นบ่อเกิดของกฎหมาย ศาลต้องผูกพันพิพากษาคดีตามแนวคำพิพากษาที่ได้มีมาแต่เดิม ตามหลัก “ข้อเท็จจริงอย่างเดียวกัน ย่อมต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเดียวกัน”


•   คำพิพากษาของศาลมีความสำคัญมากกว่ากฎหมายลายลักษณ์อักษร กฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นเพียงข้อยกเว้นของกฎหมายคอมมอนลอว์ ในกรณีที่ไม่มีคำพิพากษามาปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น


•   การศึกษากฎหมายต้องเริ่มจากการศึกษาคำพิพากษาของศาลที่มีมาแต่เดิมเป็นหลัก


•   วิธีการบัญญัติกฎหมายต้องเขียนให้แน่นอนชัดเจนและละเอียด มีลักษณะคล้ายสัญญามากกว่าที่จะเป็นตัวบทกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อผูกมัดให้ผู้ตีความได้ใช้กฎหมายตามที่ฝ่ายนิติบัญญัติต้องการ

•   มีต้นแบบมาจากประเทศอังกฤษ


•   ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law) นี้ บางตำราเรียกว่า ระบบกฎหมายจารีตประเพณี


•   ในปัจจุบันกฎหมายคอมมอนลอว์ไม่สอดคล้องกับการขยายตัวของทุนนิยมในปัจจุบัน ศาลอังกฤษได้ยอมรับกฎหมายลายลักษณ์อักษรในฐานะที่เป็นกฎหมายที่ใช้อุดช่องว่างของหลักคอมมอนลอว์


•   กระบวนพิจารณาคดีในกลุ่มประเทศคอมมอนลอว์มีลักษณะเด่นหลายประการ ได้แก่ (1) การใช้เอกสารช่วงก่อนเข้าสู่กระบวนพิจารณาและใช้การสืบพยานด้วยวาจาเต็มรูปแบบในขั้นพิจารณาคดี (2) การใช้วิธีพิจารณาด้วยวาจาและโดยเปิดเผย (3) การให้อำนาจแก่คู่ความและทนายในการสืบหาข้อเท็จจริง (4) การใช้เทคนิคการถามซักและการถามค้าน ดังนั้นดุลพินิจของคณะลูกขุน และผู้พิพากษาจะต้องมีคุณธรรมและจริยธรรมสูงมาก


ข้อดี

-   เราสามารถมั่นใจได้ว่าคดีของเราสามารถเป็นไปในทางใดโดยเปรียบเทียบจากคำพิพากษาที่มีรูปคดีในเรื่องเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน
-   ในประเทศที่ประชาชนที่ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม ช่องว่างระหว่างคนในสังคมมีน้อย ระบบ Common Law มีความเหมาะสมกับกลุ่มประเทศเหล่านี้ เพราะทำให้เกิดความเสมอภาค ไม่ล่าช้า เนื่องจากประชาชนรู้และเข้าใจกฎหมาย


ข้อเสีย

-   ในกรณีคดีของเราไม่เคยมีคำพิพากษามาก่อน เราจะไม่สามารถรู้ได้ว่าผู้พิพากษาจะนำหลักการใดมาใช้กับกรณีของเรา
-   การไม่มีบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่บัญญัติไว้ชัดเจน อาจทำให้เกิดปัญหาการเอาเปรียบ และคนในสังคมอาจไม่ได้รับความเป็นธรรม



อย่างไรก็ตามเนื่องจากเวบไซดนี้ เน้นการให้คำปรึกษาทางคดีเท่านั้น ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางคดีเป็นสำคัญ จึงต้องขอแจ้งว่า ถ้ามีคำถามประเภทนี้อีก ขอไม่รับตอบคำถามที่ไม่ใช่ข้อกฎหมายนะครับ

705
ทนายขอตอบดังนี้นะครับ


มีผู้ให้ของคำว่า “วิชาชีพ” ไว้ว่า “การทำงานที่เป็นอาชีพตลอดชีวิต ในแง่ที่เป็นการให้บริการโดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนหรือโดยไม่เห็นแก่ได้  โดยอาศัยความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษและเป็นงานที่มีคุณค่าต่อสังคม” (Oxford Advanced Dictionary)


ลักษณะของวิชาชีพ

1.งานที่มีการอุทิศตน ไม่มุ่งเพื่อหากำไรสูงสุด
2.ผ่านกระบวนการศึกษาอบรมสั่งสอนเป็นเวลานาน มีความรู้ (ปัญญา)
3. มีการสอดส่องกำกับดูแล ไม่ให้ผูกขาด เอาเปรียบผู้อื่น (ศีล -จริยธรรม -กฎหมาย)



เมื่อมาพิจารณาคำว่า “หลักวิชาชีพนักกฎหมายของไทย” จึงพบว่า มีความเกี่ยวข้องกับเรื่อง “คุณธรรมจริยธรรม” เนื่องจากวิชากฎหมายเป็นวิชาชีพที่จะต้องมีจริยธรรมกำกับในการประกอบวิชาชีพ  เพื่อที่ให้ผู้เรียนได้รู้ว่าเขาจะสามารถนำไปปฏิบัติ และใช้กฎหมายให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมได้อย่างไร 



ศาสตราจารย์ จิตติ ติงศภัทค์ ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า

-   หลักวิชาชีพนักกฎหมายเป็นวิชาหนึ่งที่จะต้องปลูกฝังให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพนักกฎหมายตั้งแต่เรียนในระดับมหาวิทยาลัย

-   การที่นักกฎหมายจะเป็นบุคคลที่มีคุณภาพได้ไม่ใช่เป็นเพียงบุคคลผู้ที่มีความรู้ทางกฎหมาย  แต่ต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรมจริยธรรมที่ได้รับการปลูกฝังอยู่ในจิตใจเพื่อที่จะเป็นบุคลากรที่ดีในสังคมได้ 

-   การสอนหลักวิชาชีพนักกฎหมายนี้ จึงเป็นการสอนเพื่อให้นักกฎหมายเป็นผู้ที่มีคุณธรรมจริยธรรม  ทราบถึงหน้าที่ของนักกฎหมาย อุดมคติของนักกฎหมายว่าควรมีหลักธรรมในการปฏิบัติหน้าที่อย่างไร   

-   วิชานี้จึงมิได้สอนเพื่อให้ทราบถึงวินัยสำหรับนักกฎหมาย แต่เพื่อให้รู้หลักธรรมและคติที่ควรยึดถือปฏิบัติยิ่งกว่าวินัยหรือมรรยาทที่เป็นที่ยอมรับกันในบรรดานักกฎหมายกันเอง

-   ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้กฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร  ดังนั้นการที่จะทำให้กฎหมายเกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนได้มากที่สุด นักกฎหมายจะต้องตีความหมายของกฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม หากนักกฎหมายเป็นผู้ที่ไร้ซึ่งคุณธรรมจริยธรรมแล้ว การตีความของกฎหมายก็จะไม่สามารถมอบความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้ 


ข้อดี

นักกฎหมายเป็นอาชีพที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายตั้งแต่การร่างกฎหมาย  การตีความ  ตลอดจนการบังคับใช้  ซึ่งในตัวบทกฎหมายแล้วจะมีช่องโหว่อยู่ในตัวกฎหมายเอง  อีกทั้งอาชีพนักกฎหมายเป็นอาชีพที่มีความเกี่ยวข้องกับการตัดสินชีวิตคน  หากนักกฎหมายขาดคุณธรรมจริยธรรมอาจจะใช้ช่องโหว่ของกฎหมายนี้มาหาผลประโยชน์  การกระทำที่ไร้คุณธรรมนี้เป็นสิ่งที่สามารถทำร้ายคนได้อย่างเป็นวงกว้าง  ด้วยเหตุผลนี้การสอนคุณธรรมจริยธรรมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น  เพราะการสอนแต่ตัวบทกฎหมายนั้นยังไม่พอ การนำคุณธรรมจริยธรรมมาสอนก็เพื่อให้นักกฎหมายมีวิธีคิดและใช้กฎหมายได้อย่างถูกต้อง หลักวิชาชีพนักกฎหมายจึงเป็นการเน้นย้ำให้มีความเข้าใจว่าควรนำกฎหมายไปใช้ในการประกอบอาชีพอย่างไร  และเป็นการสอนเพื่อให้เข้าใจถึงคุณธรรมจริยธรรม การวางตัวในการประกอบอาชีพทางด้านกฎหมาย  อันประกอบไปด้วย ทนายความ ผู้พิพากษา อัยการ และนิติกร ในอนาคตต่อไป


ข้อเสีย

ยังไม่พบ นอกจากว่าข้อมูลทางด้านเอกสารเกี่ยวการสอนคุณธรรมจริยธรรมแก่นักกฎหมายในประเทศไทยมีน้อยมาก ทำให้ผู้สนใจในเรื่องนี้หาหนังสือที่ใช้ในการศึกษาได้จำนวนน้อยมาก  เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการบรรยายในชั้นเรียน  เกี่ยวกับจริยธรรมของทนายความ ผู้พิพากษา อัยการ นิติกร มากกว่า ทำให้จึงปิดโอกาสสำหรับผู้ที่ไม่มีโอกาสได้เข้าฟังการบรรยาย


ข้อสังเกต

การประเมินผลเรื่องคุณธรรมจริยธรรมมากน้อยเพียงใดนั้นเป็นสิ่งที่ยาก  และปัจจุบันก็ยังไม่มีการประเมินผลที่มีรูปแบบอย่างเป็นทางการ  ดังนั้นการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมนี้ โดยเฉพาะความยุติธรรม เที่ยงตรง ปฏิบัติตามหน้าที อย่างซื่อสัตย์และซื่อตรง มีเหตุผลในการที่จะตัดสินสิ่งต่างๆ จึงเป็นการสะสมเป็นเสบียงที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพในอนาคตมากกว่า  การสอนหลักวิชาชีพนักกฎหมายไม่สามารถขัดเกลาทุกคนให้มีคุณธรรมจริยธรรมได้   ดังนั้นทุกคน ทุกสถาบันในสังคมมีความจำเป็นที่จะต้องช่วยกันขัดเกลาจิตใจ  การสอนหลักวิชาชีพนักกฎหมายทำได้เพียงการชี้ให้เห็นว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดี สิ่งไหนถูกและสิ่งไหนไม่ถูกต้องต่อการประกอบอาชีพนักกฎหมาย  เพราะคุณธรรมจริยธรรมเป็นสิ่งที่แสดงออกได้ด้วยการกระทำ  และผลของการกระทำนี้จะเป็นเครื่องบ่งชี้คุณธรรมจริยธรรมของแต่ละคนต่อไป 




อย่างไรก็ตามเนื่องจากเวบไซดนี้ เน้นการให้คำปรึกษาทางคดีเท่านั้น ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางคดีเป็นสำคัญ จึงต้องขอแจ้งว่าไม่รับตอบคำถามที่ไม่ใช่ข้อกฎหมายนะครับ

หน้า: 1 ... 45 46 [47] 48 49 50