17/05/24 - 19:58 pm


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - ทนายพร

หน้า: 1 ... 43 44 [45] 46 47 ... 50
661
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: ชู้
« เมื่อ: มิถุนายน 10, 2015, 07:44:06 pm »
ได้เคยตอบปัญหานี้ไปแล้วนะครับ ตามนี้เลยครับ
ปัจจุบันมีการนอกใจภรรยาและนอกใจสามีเป็นจำนวนมาก แต่ทั้งนี้การดำเนินคดีกับชายชู้หรือหญิงชู้หรือเมียน้อยนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 ได้คุ้มครองสิทธิของคู่สมรสเพียงฟ้องเรียกค่าทดแทนเท่านั้น การฟ้องเรียกค่าทดแทนฟ้องชายชู้หรือเมียน้อยสามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ.มาตรา 1523 วรรคสอง 

โดยอายุความในการดำเนินคดีกับชายชู้หรือเมียน้อยต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่รู้หรือควรรู้เกี่ยวกับการมีชู้หรือการล่วงเกินภริยาในทำนองชู้สาว ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1529

แต่ทั้งนี้จะฟ้องให้บังคับภริยาน้อยหรือชายชู้ยุติความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีหรือภรรยาตนเองไม่ได้ เพราะสภาพแห่งคำขอไม่เปิดช่องให้ทำได้และไม่สามารถบังคับได้และจะเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดเป็นรายประเด็น จนกว่าจะยุติความสัมพันธ์ก็ไม่ได้อีกเช่นเดียวกัน

อีกทั้งถ้าเป็นเพียงการแอบได้เสียกันแบบลับๆ ไม่ถือว่าเป็นหญิงชู้หรือเมียน้อยที่จะเรียกค่าทดแทนตามกฎหมายได้ ทั้งนี้มีหลายคดีที่เมียน้อยไปอยู่กินกับสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้อื่น มีการซื้อคอนโดให้ ซื้อบ้านให้ แต่แอบมาลักลอบได้เสียกันถือว่า ไม่มีความผิดตามกฎหมาย ศาลจะถือว่าเป็นการลักลอบได้เสียกันและมักจะยกฟ้อง


ในที่นี้ ชายชู้ หมายถึง การที่ชายไปเป็นชู้กับภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้อื่น โดยมีการล่วงเกินภริยาผู้อื่นไปในทำนองชู้สาว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ตัวอย่างการเป็นชู้ เช่น ไปกอดจูบลูบคลำภริยาผู้อื่นหรือไปร่วมหลับนอน ร่วมประเวณีกับภริยาผู้อื่น ไม่ว่าจะกระทำในที่ลับ ก็ถือว่าเป็นชู้แล้วตามกฎหมาย
 
หญิงชู้หรือเมียน้อย หมายถึง หญิงไปแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตัวเองมีความสัมพันธ์กับสามีชาวบ้านในทำนองชู้สาว

ตัวอย่างคดีชู้สาวในชั้นศาลที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 981/2535 
จำเลยที่ 2 (เมียน้อย) ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโจทก์อยู่ร่วมเรือนเดียวกันไปไหนมาไหนด้วยกัน บุตรของโจทก์และจำเลยที่ 1 เห็นทั้งสองคนนอนร่วมเตียงเดียวกัน จำเลยที่ 2 เคยไปบ้านมารดาของจำเลยที่ 1 ในเทศกาลสำคัญ ถือว่าเป็นการแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ทำนองชู้สาวแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2940/2538
การเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่น ป.พ.พ.มาตรา 1523 วรรคสอง มิได้เขียนไว้ว่า ภริยาต้องฟ้องหย่าสามีก่อน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ โดยไม่ต้องฟ้องหย่าสามี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4818/2551
ภริยาฟ้องเรียกค่าทดแทนจากภริยาน้อย แม้ไม่ฟ้องหย่าสามี ก็เรียกค่าทดแทนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6851/2537 
แม้โจทก์จะทราบความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวของจำเลยกับนาย อ. สามีโจทก์มาตั้งแต่ปลายปี 2529 ก็ตาม แต่คำฟ้องของโจทก์นั้นเองก็อ้างความสัมพันธ์ของจำเลยกับนาย อ. ฉันสามีภริยาจนมีบุตร 1 คน และในชั้นพิจารณาก็ได้ความว่าความสัมพันธ์ของจำเลยกับนาย อ. ในทำนองชู้สาวยังเกิดขึ้นต่อมามิได้หยุดกระทำและสิ้นไป คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529

โจทก์เบิกความยืนยันว่าโจทก์ไม่เคยยินยอมให้นาย อ. สามีโจทก์ไปมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับจำเลย และเคยขอร้องให้เลิกเกี่ยวข้องกับจำเลยแต่ นาย อ. ไม่เชื่อฟัง เมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับนาย อ. โจทก์และนาย อ.ได้ทะเลาะโต้เถียงกันแล้วแยกทางกัน พฤติการณ์เช่นนี้ย่อมแสดงว่าโจทก์ไม่ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้นาย อ. กับจำเลยมีความสัมพันธ์กันในทำนองชู้สาว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนจากจำเลยได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1523 วรรคสอง ที่ศาลล่างพิพากษาให้ค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวน 250,000 บาท ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1620/2538 

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวมาตั้งแต่ปี2518 ตลอดมาจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ลักษณะการกระทำของจำเลยที่ 1 ได้กระทำต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1529 โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 วรรคสอง ได้ โดยไม่จำต้องคำนึงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงหย่ากันเอง หรือศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา1516 (1) ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 วรรคแรกหรือไม่

สรุปก็คือ สามารถฟ้องได้ครับ แต่ทั้งนี้ต้องจัดเตรียมพยานหลักฐานให้แน่นนะครับ มิเช่นนั้นศาลอาจยกฟ้องได้ครับ

662
ก่อนที่จะพิจารณาประเด็นอื่นต้องทำความเข้าใจเรื่องค่าคอมมิชชั่นเป็นค่าจ้างหรือไม่?

ค่าคอมมิชชั่นจะเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ตามมาตรา 5 หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาว่า เป็นเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนหรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานหรือไม่

หากค่าคอมมิชชั่นเป็นเงินส่วนหนึ่งที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนในการทำงานโดยคิดตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ ค่าคอมมิชชั่นจึงเป็นค่าจ้างตามความหมายของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 (แนวคำพิพากษาฎีกาที่2863 /2552)
จากคำถาม เข้าใจว่า อยู่ในระหว่างลาคลอดจึงไม่ได้มาทำงาน ต่อมาทีมงานสามารถทำยอดขายได้ถึงเป้า ทำให้บริษัทจ่ายเงินค่าคอมมิชชั่นให้กับทีมงาน โดยไม่ได้แบ่งส่วนแบ่งมาให้กับเรา

ดังนั้น หากพิจารณารายละเอียดเพียงเท่านี้ก็จะเห็นว่า เราไม่ได้มีส่วนในการทำยอดขายในรอบเดือนเมษายนเลย (หรือถ้ามีส่วนร่วมด้วยข้อเท็จจริงก็จะเปลี่ยนไป) ฉะนั้น เมื่อเราไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าคอมมิชชั่นดังกล่าวเพราะการจ่ายค่าคอมฯจะถือเป็นค่าจ้างต้องจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานครับ

อย่างไรก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในเงื่อนไขการจ่ายค่าคอมมิชชั่นว่าเป็นอย่างไร ก็ต้องยึดถือไปอย่างนั้นครับ


663
1.ถ้าในอนาคตบริษัทจ่ายเช็คเด้ง เราสามารถฟ้องร้องได้ไหมครับเรื่องเลิกจ้างและไม่จ่ายตามเงื่อนไข หรือฟ้องรอ้งอะไรจากเช็คเด้งได้บ้าง

ตอบ กรณีเกี่ยวกับกับเช็คนั้นมีกฎหมายเฉพาะ นั้น คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ซึ่งการจ่ายเช็คเด้งหรือออกเช็คไม่มีเงินนั้นจะมีความผิดโทษทาอาญาคือจำคุกไม่เกิน 1 ปีครับ

2. ถ้าเรายืนกรานที่จะให้ออกจดหมายเลิกจ้างและบริษัทไม่ยินยอม เราจะทำอย่างไรต่อไปได้บ้างครับ เพราะมันจะยืดเยิ้อ

ตอบ โดยปกติหากนายจ้างจะเลิกจ้างก็จะต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือและระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างด้วย อย่างไรก็ตามหากหากนายจ้างไม่ยอมออกหนังสือมาให้ก็ไม่ต้องกังวลเพราะตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคท้ายได้บัญญัติว่า “การเลิกจ้างตามมาตรานี้หมายความว่า การกระทําใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทํางานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทํางานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดําเนินกิจการ
ต่อไป” หมายความว่า ถ้าบริษัทบอกเราด้วยว่าไม่ต้องมาทำงานแล้วนะบริษัทขอเลิกจ้างคุณ อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นการเลิกจ้างแล้ว

3. ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้และมีการบอกเลิกจ้างเป็นคำพูด แต่ถ้าบริษัทเปลี่ยนใจให้เราทำงานต่อเพื่อยื้อเวลา  แต่เนื่องจากเราเสียความรู้สึกและได้สมัครงานไปที่อื่นแล้ว เรามีสิทธิประฏิเสธที่จะทำงานต่อและยืนกรานจุดเลิกจ้างที่เดิมได้หรือไม่ และฟ้องร้องบริษัทเรียกร้องค่าชดเชยเลิกจ้าง

ตอบ เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาต่อกันแล้วก็มีผลสมบูรณ์ ถ้าบริษัทจะให้เราทำงานต่อไปเพื่อยื้อเวลา เราก็สามารถปฎิเสธได้ครับ ทั้งนี้ต้องมั่นใจว่าบริษัทได้บอกเลิกจ้างเราแล้วนะครับ

ทนายพร


664
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: ปัญหาการเลิกจ้าง
« เมื่อ: พฤษภาคม 16, 2015, 04:06:00 pm »
ดูแล้วคุณเหมือนเป็นตัวเลือกลำดับสุดท้ายและอยู่ท่ามกลางความขัดเเย้งในเรื่องส่วนตัวแต่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องงาน และก็น่าเห็นใจอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีความซับซ้อนถึงขอให้ติดต่อทางโทรศัพท์ เพื่อที่จะได้สอบถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติมและตอบคำถามได้อย่างชัดเจนครับ
อย่างไรก็ตาม ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ เรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าชดเชย ในข้อ 45 ว่า "ให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานซึ่งเลิกจ้างดังนี้
          (1) พนักงานซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันแต่ไม่ครบหนึ่งปีโดย
รวมวันหยุด วันลา และวันที่รัฐวิสาหกิจสั่งให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ ให้
จ่ายไม่น้อยกว่าเงินเดือน ค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวันหรือไม่น้อยกว่าเงินเดือนค่า
จ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้าย สำหรับพนักงานซึ่งได้รับเงินเดือนค่าจ้างตามผลงาน
โดยคำนวณเป็นหน่วย
          (2) หนักงานซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปี แต่ไม่ครบสามปี โดยรวมวันหยุด วัน
ลา และวันที่รัฐวิสาหกิจสั่งให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ ให้จ่ายไม่น้อยกว่า
เงินเดือน ค่าจ้างอัตราสุดท้ายสำหรับพนักงานซึ่งได้รับเงินเดือนค่าจ้างตามผลงานโดย
คำนวณเป็นหน่วย
          (3) พนักงานซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปีขึ้นไป โดยรวมวันหยุด วันลา และวัน
ที่รัฐ วิสาหกิจสั่งให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ ให้จ่ายไม่น้อยกว่าเงินเดือน
ค่าจ้างอัตรา สุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าเงินเดือนค่าจ้างของการทำงาน
หนึ่งร้อยแปดสิบวัน สุดท้ายสำหรับหนักงานซึ่งได้รับเงินเดือนค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณ
เป็นหน่วย
          การเลิกจ้างตามข้อนี้ หมายความว่า การที่รัฐวิสาหกิจให้ออกจากงาน ปลดจากงาน
หรือไล่ออกจากงานโดยที่พนักงานไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 46 หรือในกรณีที่รัฐวิสาหกิจ
ไม่ยอม ให้พนักงานทำงานเกินเจ็ดวันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่น หรือไม่ก็
ตาม โดยไม่จ่ายเงิน เดือนค่าจ้างให้ ถ้าปรากฏว่ารัฐวิสาหกิจมีเจตนาจะไม่จ้างพนักงานนั้น
ทำงานต่อไป หรือกลั่นแกล้ง พนักงาน ให้ถือเป็นการเลิกจ้างด้วย
          ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การจ้างพนักงานเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็น
ครั้ง คราว เป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการ ซึ่งรัฐวิสาหกิจและพนักงาน ตกลง
ทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือโดยมีกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างงานไว้ และให้
หมายความรวมถึงกรณีที่สัญญาจ้างดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้วแต่งานยังไม่แล้วเสร็จ หาก
รัฐวิสาหกิจและ พนักงานจะตกลงต่อสัญญาจ้างกันอีก ระยะเวลาการจ้างทั้งสิ้นรวมแล้วจะต้อง
ไม่เกินระยะเวลา การจ้างตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างฉบับแรกด้วย
ทนายพร

665
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: ปัญหาการเลิกจ้าง
« เมื่อ: พฤษภาคม 15, 2015, 12:09:39 am »
ตอบเข้าเรื่องเลยนะครับ

๑.เท่าที่อ่านก็ยังงงๆอยู่นะครับว่าระหว่างคุณกับบริษัท(สถานีไฟฟ้า) มีสัญญาจ้างกันอย่างไร เพราะเท่าที่อ่านก็อนุมานได้ว่า ทำงานเป็นกะ แล้วเพื่อนคือ น.ส.ก.ไม่ค่อยมาทำงานคุณจึงต้องทำโอทีต่อ และที่สำคัญ สถานีไฟฟ้านี้เป็นของเอกชน หรือเป็นรัฐวิสาหกิจครับ ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นรัฐวิสาหกิจก็จะมีกฎหมายเฉพาะต่างหากจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานครับ ซึ่งประเด็นนี้ต้องขอรายละเอียดเพ่ิมแล้วล่ะครับถึงจะวิเคราะห์ได้

๒."แล้วถ้าผมโดนไล่ออกผมจะได้รับเงินชดเชยไหมครับ ( ทำงานตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2558 )" ซึ่งประเด็นนี้ต้องมีความชัดเจนตามข้อ ๑ ก่อน ซึ่งหากเป็นลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจแล้ว เมื่อถูกออกจากงานอาจได้ค่าชดเชยตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ
แต่ถ้าเป็นลูกจ้างเอกชนก็มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามอายุงานครับ ซึ่งใน(๑) ได้บัญญัติว่า "ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบหนึ่งปีให้จ่ายไม่น้อย
กว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน" แต่กรณีของคุณนั้นทำงานยังไม่ครบ ๑๒๐ วัน จึงยังไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยดังกล่าวครับ

ทนายพร

666
ตอบตามประเด็นได้ดังนี้ครับ
1.สามารถแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทได้หรือไม่นั้น ต้องดู “ข้อความ” ว่า ข้อความนั้นเข้าองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ซึ่งฐานความผิดหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม ทำให้เขาเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ซึ่งถ้าฟังจากที่เล่ามานั้น ก็จะไม่เข้าองค์ประกอบฐานความผิดเรื่องหมิ่นประมาท แต่จะเข้าองค์ประกอบในข้อหาดูหมิ่นซึ่งหน้าครับ

2.ถูกเอาเปรียบเรื่องเงินเดือน?  ข้อนี้ต้องขอรายละเอียดเพิ่มครับว่าถูกเอาเปรียบอย่างไร ส่วนการบังคับให้ลาออกนั้นประเด็นนี้ค่อนข้างสู้ยากครับ ประกอบกับเราเป็นฝ่ายเขียนใบลาออกเองด้วย ก็จะทำให้เรื่องนี้มีประเด็นของข้อเท็จจริงมากขึ้นด้วย คงต้องคุยข้อเท็จจริงอย่างละเอียดครับถึงจะวิเคราะห์ได้

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า หรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ซึ่งทั้ง 2 มาตรานั้น มีข้อแตกต่างกันคือ การดูหมิ่น เป็นการกระทำต่อหน้า ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีบุคคลที่ 3 อยู่ด้วย หากซึ่งหน้าแล้ว เป็นความผิดสำเร็จ
แต่หมิ่นประมาทนั้น จะต้องเป็นการใส่ความผู้อื่น ต่อบุคคลที่สาม ดังนั้น บุคคลที่สาม ถือเป็นองค์ประกอบของความผิด ถ้าไม่มีบุคคลที่สาม มารับรู้การกระทำอันเป็นการหมิ่นประมาทนั้นก็ถือว่าไม่ครบองค์ประกอบความผิด ผู้กระทำจะไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท (หมิ่นประมาทต้องมีบุคคลที่ 3 อยู่ด้วยหรือต้องมีบุคคลที่3 มารับรู้การหมิ่นประมาท)

ตัวอย่างที่ 1. ก. ด่า ข. โดยที่ไม่มีบุคคลอื่นอยู่ด้วย อย่างนี้ เป็นความผิดซึ่งหน้า ไม่ผิดหมิ่นประมาท เพราะไม่มีบุคคลที่ 3 ไม่ครบองค์ประกอบความผิด

ตัวอย่างที่ 2. ก. ด่า ข. โดยมีคนอื่นอยู่ด้วย (บุคคลที่ 3) เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว

ตัวอย่างที่ 3. ก. ด่า ข. โดยที่ ข. ไม่อยู่ แต่เป็นการไปใส่ความ ข. ให้ผู้อื่นฟัง ก็เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทเช่นกัน

667
ตอบ ๑. อยู่ที่ข้อตกลงครับว่าตกลงจ่ายกันเป็นเช็ค , เป็นเงินสด หรือโอนเข้าบัญชี อยู่ที่คุณกับบริษัทที่ตกลงกันครับ
ตอบ ๒. ควรสรุปตามข้อ ๑ ให้เข้าใจตรงกันก่อน เมื่อสรุปได้แล้วจะเซ้นต์ใบลาออกหรือจะทำสัญญากันอย่างไรก็สามารถดำเนินการได้ตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันครับ
ตอบ ๓. ควรจัดทำสัญญากันให้เสร็จเรียบร้อยพร้อมกับมีพยานเซ้นต์ด้วย ก่อนที่จะเซ้นต์ใบลาออกครับ จะได้สบายใจ
ตอบ ๔. ฟ้องศาลเป็นคดีอาญาครับ
ทนายพร

668
ตอบตามคำถามเลยนะครับ
1 ตามเรื่องราวนี้ถือว่าทางบริษัททำการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ครับ และถ้าใช่ผมสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหาย นอกเหนือจากค่าชดเชยการเลิกจ้างตาม กม. ได้หรือไม่ครับ?
ตอบ...ก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ อยู่ที่มุมมองของแต่ละฝ่าย ซึ่งองค์ประกอบของการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้นมีหลายรูปแบบ เช่น การเลิกปฎิบัติ , การเลิกจ้างไม่มีความผิด , การปรับปรุงขบวนการผลิต เป็นต้น โดยต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไปครับ และผู้ที่จะตอบได้ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น คือ "ศาล" ครับ โดยหน้าที่ของแต่ละฝ่ายคือเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อให้ศาลเป็นผู้พิจารณาตัดสินครับ และกรณีที่ถามมานี้ต้องคุยในรายละเอียดอีกเยอะพอสมควรถึงจะตอบได้ครับ


2 มีคำแนะนำอย่างไรต่อไปสำหรับกรณีนี้อีกไหมครับ เพื่อที่ผมจะได้เตรียมตัวรับมือให้พร้อมได้ ผมไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับเรื่อง กม.เท่าไหร่นัก?
ตอบ..ข้อแนะนำก็คือ ประการแรก หากจะสู้ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ก็ไม่ต้องเซ้นต์ใบลาออก หรือรับเงื่อนไขใดๆ และในระหว่างนี้ต้องไม่ทำผิดกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท แล้วไปสู้ที่ศาลเพื่อให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน หากคุณชนะก็จะได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ถ้าแพ้ก็ถือว่าเลิกลากันไป แต่ก็จะเสียเวลาและค่าใช้จ่ายพอสมควรครับ หรือหากเห็นว่าไม่อยากขึ้นโรงขึ้นศาลก็อาจจะพิจารณาต่อรองเงื่อนไขกับบริษัทในระดับที่พอรับได้ และจากกันด้วยความเข้าใจและความรู้สึกที่ดีๆต่อกันครับ และท้ายที่สุดสำหรับข้อแนะนำคือ ขอให้การฟ้องศาลเป็นช่องทางสุดท้าย เพราะระยะเวลาในการดำเนินคดีค่อนข้างนานครับ และระยะเวลาต่อสู้ที่ยาวนานจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังคำกล่าวที่ว่า "ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม" ลองพิจารณาดูครับ
ทนายพร

669
ตอบจากคำถาม ข้อ ๑ ก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่รับฟังได้หากบริษัทขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง ทั้งนี้ทั้งพนักงานตรวจแรงงานหรือศาลก็จะมีกระบวนการไกล่เกลี่ยอยู่แล้ว หากเราตอกลงรับเงื่อนไขว่าให้ผ่อนจ่ายได้ก็เป็นไปตามข้อตกลงนั้น หากเราไม่ตกลงก็จะต้องมีคำสั่งหรือคำพิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องตามรูปคดีครับ
ตอบจากคำถามข้อ ๒ ถูกต้องแล้วครับ หากไม่มีการบอกกล่าวก่อนเลิกจ้าง ลูกจ้างก็มีสิทธิได้รับ "สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า" หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "ค่าตกใจ" ซึ่งการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนวันจ่ายค่าจ้างเพื่อให้มีผลในงวดการจ่ายค่าจ้างงวดต่อไปครับ ส่วนคำว่าค่าเสียหายนั้น ใช้เรียกร้องจากกรณีการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมครับ
ตอบข้อ ๓ เมื่อมีการเลิกจ้าง (นายจ้างต้องแจ้งเป็นหนังสือ หรือแจ้งว่า "คุณไม่ต้องมาทำงานแล้วนะ บริษัทเลิกจ้างคุณแล้ว" ก็ถือเป็นการเลิกจ้างตามกฎหมายแล้ว ซึ่งเมื่อมีการเลิกจ้างกันแล้ว "สิทธิ และ หน้าที่" ของทั้งสองฝ่ายก็เป็นอันเลิกกัน หมายความว่า ลูกจ้างก็ไม่ต้องไปทำงานให้กับนายจ้างแล้ว(ไม่ถือเป็นการขาดงาน) เช่นเดียวกันนายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างนับแต่วันเลิกจ้างนั้น ดังนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนก็ให้นายจ้างออกหนังสือเลิกจ้างให้เราครับ หรือถ้านายจ้างไม่ออกให้ก็ถามไปตรงๆว่าเลิกจ้างเราแล้วใช่หรือไม่ อะไรประมาณนี้อ่ะครับ
ขอให้โชคดีครับ
ทนายพร

670
สวัสดีครับ ยินดีให้คำปรึกษาครับ ซึ่งจากที่เล่ามานี้ก็เข้าใจว่าอยู่ในภาวะเครียดพอสมควร ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจอย่างชัดเจนก็จะขออธิบายให้เข้าใจแบบยาวๆตามคำถามเลยนะครับ

ดังนี้ครับ

คำถาม..คือที่บริษัทเวลาเลิกจ้างพนักงาน เขาไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยเป็นเงินก้อนทีเดียวทั้งหมด แต่กลับใช้วิธีผ่อนจ่ายทีละเดือนจนครบตามตกลง ซึ่งผมคิดว่าไม่เป็นการยุติธรรม เช่นนี้แล้วไม่ทราบว่าผมสามารถไม่ยอมรับวิธีการนี้ของบริษัทได้หรือไม่ครับ แล้วหากไม่ยอมรับแล้วจะมีวิธีการอย่างไรที่จะบังคับให้บริษัทจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างเต็มจำนวนในครั้งเดียวได้ครับ ในเรื่องนี้มี กม. รองรับหรือไม่ครับ

ตอบ...กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยภายในกี่วัน แต่มีบทบัญญัติที่ใกล้เคียงที่เทียบได้อยู่ 2 มาตรา ดังนี้

มาตรา 9 ได้บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างไม่คืนเงินประกันตาม มาตรา 10 วรรคสอง หรือไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และ ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ภายในเวลาที่กำหนดตาม มาตรา 70 หรือ ค่าชดเชยตาม มาตรา 118 ค่าชดเชยพิเศษตาม มาตรา 120 มาตรา 121 และ มาตรา 122 ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่าง เวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี

ในกรณีที่นายจ้างจงใจไม่คืนหรือไม่จ่ายเงินตามวรรคหนึ่งโดย ปราศจากเหตุผลอันสมควรเมื่อพ้นกำหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ ถึงกำหนดคืนหรือจ่ายให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้ลูกจ้างร้อยละสิบห้า ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน

มาตรา 70 วรรคท้าย ได้บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วง เวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ตามที่ลูกจ้าง มีสิทธิได้รับ ให้แก่ลูกจ้างภายในสามวันนับแต่วันที่เลิกจ้าง

หมายความว่า เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีความผิดแล้ว นายจ้างต้องมี “หน้าที่” ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน (ม.118) เต็มจำนวน หากเกินเวลา 7 วันลูกจ้างก็มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มร้อยละ 15 ทุก 7 วัน (นับเพิ่มทุกเจ็ดวันจนกว่านายจ้างจะจ่าย เช่น มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชย 10,000 บาท เมื่อพ้นไปเจ็ดวันลูกจ้างจะได้รับค่าชดเชย 10,000 บาท + เงินเพิ่มอีกร้อยละ 15  อีกจำนวน 1,500 บาท รวมเป็น 11,500 บาท หากยังไม่จ่ายอีก ก็จะเป็นต้นเงิน 10,000 บาท + เงินเพิ่มอีกร้อยละ 15 เป็นเงิน 1,500 บาท รวมเป็น 13,000 บาท ซึ่งหากยังไม่จ่ายอีกก็จะคิดไปเรื่อยๆจนกว่านายจ้างจะจ่าย ทั้งนี้ การที่นายจ้างไม่จ่ายต้อง “ปราศจากเหตุผลอันสมควร” ด้วย และกฎหมายก็ไม่ได้ให้สิทธินายจ้างที่จะแบ่งจ่ายเป็นงวดได้ เว้นแต่ลูกจ้างจะยินยอมและยอมรับเงื่อนไขการแบ่งจ่ายครับ

คำถาม..อีกเรื่องในกรณีเป็นเรื่องขึ้นศาลเเรงงาน มีขั้นตอนการพิจารณาเนินนานเพียงใดครับ ซึ่งในระหว่างที่เรื่องพิพาทในชั้นศาลนั้น ระยะเวลาที่ผ่านไปนับจากวันเลิกจ้างโดยที่ผมยังไม่ได้ค่าชดเชย ค่าเสียหายต่างๆนั้น เมื่อคดีสิ้นสุดหากผมชนะ เวลาในส่วนนี้ทางบริษัทต้องชดเชยกลับมาด้วยหรือไม่ครับ และมีหลักเกณฑ์อย่างไร

ตอบ...ศาลแรงงานเป็นศาลชำนัญพิเศษ โดยใช้ระบบไต่ส่วนในการพิจารณาพิพากษาคดี (ในทางปฎิบัติแล้วจะไม่ค่อยเป็นเช่นนี้แต่จะใช้ระบบการพิจารณาเหมือนคดีแพ่งตามปกติ คือเป็นหน้าที่ของคู่ความที่จะทำข้อเท็จจริงให้ปรากฏในสำนวน) ส่วนการดำเนินคดีนั้น สามารถที่จะร้องขอให้นิติกรประจำศาลจัดทำคำฟ้องให้ได้ และหลังจากนั้น ก็จะมีการนัดไกล่เกลี่ยนัดแรก (ประมาณ 45 วันนับแต่วันยื่นฟ้อง) หากตกลงกันไม่ได้จะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีเต็มรูปแบบ ก็คือศาลจะสั่งให้จำเลยยื่นคำให้การ หลังจากนั้นก็จะเป็นการ “กำหนดประเด็นข้อพิพาท” และกำหนดวันในการ “สืบพยาน จำเลย” และ “สืบพยานโจทก์” เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการนี้แล้ว ศาลก็จะทำ “ร่าง” คำพิพากษาและนัดคู่ความมาฟังคำพิพากษาต่อไป(โดยทั่วไปประมาณ 1 เดือน) และหลังจากนั้นประมาณ 15-30 วันจึงจะไปขอคัดคำพิพากษาได้ครับ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ถึง 1 ปี แล้วแต่ความยากง่ายของคดีครับ

ถ้าลูกจ้างชนะลูกจ้างก็มีสิทธิได้รับเงินตาม “คำขอท้ายฟ้อง” ซึ่งอยู่ที่เราจะขอให้ศาลพิพากษาอย่างไร ซึ่งหากเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแล้ว ก็จะต้องมีคำขอให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน มาตรา 49 ซึ่งมีแนวคำพิพากษาฎีกาไว้ประมาณว่าคิดจากอายุงานที่ทำงานมา “ปีละเดือน” ครับ และในการดำเนินคดีแรงงานนั้นไม่เสียค่าฤชาธรรมเนียมศาลแต่อย่างไดครับ

รบกวนแนะนำชี้เเนะด้วยนะครับว่าผมควรทำอย่างไร ทางบริษัทจะเรียกเข้าไปแจ้งเลิกจ้างในวันอังคารนี้แล้วครับ ผมจะได้เตรียมการได้ถูกว่าจะทำอย่างไร

ส่วนข้อแนะนำคือ ไม่ต้องเซ็นต์ใบลาออก หรือไม่ต้องเซ็นต์ยอมรับเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น และยืนยันให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยเต็มจำนวนภายใน 7 วันครับ ถ้านายจ้างไม่จ่ายก็ไปใช้สิทธิได้ 2 ช่องทาง คือ ร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน (เรื่องค่าจ้าง,ค่าชดเชย,ดอกเบี้ย,เงินเพิ่ม ซึ่งเป็นสิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน) หรืออีกช่องทางหนึ่งก็คือไปใช้สิทธิทางศาล ตามคำตอบข้างต้นครับ ให้กำลังใจครับ

ทนายพร

671
วันนี้ผมให้คำปรึกษาลูกจ้างคนหนึ่ง ที่สอบถามมาว่า ตนเองมีกำหนดระยะเวลาสัญญาจ้างงานกับบริษัทแห่งหนึ่งแค่ 3 ปี ซึ่งจะหมดประมาณเดือนพฤษภาคม 2558 ที่จะถึงนี้
(1)   ถ้าครบระยะเวลาตามสัญญาจ้าง หากบริษัทไม่มีการต่อสัญญาจ้างดังกล่าว ถือว่าเป็นการเลิกจ้างหรือไม่
(2)   ตนเองจะได้รับค่าชดเชยต่างๆ จากการไม่ต่อสัญญาจ้างหรือไม่ อย่างไร 
(3)   นายจ้างต้องแจ้งเหตุผลของการไม่ต่อสัญญาหรือไม่
(4)   ถ้านายจ้างไม่ต่อสัญญาต่อนั้น หากตนเองไม่พอใจ สามารถไปฟ้องศาลแรงงานได้หรือไม่


ในช่วงที่แนะนำไปนั้น ผมได้อ้างถึง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 581 ที่ระบุไว้ว่า

"ถ้าระยะเวลาที่ได้ตกลงว่าจ้างกันนั้นสุดสิ้นลงแล้ว ลูกจ้างยังคงทำงานอยู่ต่อไปอีก และนายจ้างรู้ดังนั้นก็ไม่ทักท้วงไซร้  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า คู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิม แต่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะเลิกสัญญาเสีย ได้ด้วยการบอกกล่าวตามความในมาตราต่อไปนี้"

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า

(1)   สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน ถ้าแต่ละฝ่ายต่างยึดการครบกำหนดของสัญญาเป็นสำคัญ ก็ถือเป็นการเลิกสัญญาจ้างโดยผลของสัญญาสิ้นสุด

(2)   อย่างไรก็ตามต้องดูในข้อเท็จจริงหลังจากนั้นเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน เช่น ในเดือนเมษายน 2558 ก่อนสิ้นสุดระยะเวลาจ้างงาน 1 เดือน นายจ้างได้แจ้งฝ่ายลูกจ้างหรือไม่ว่าสัญญาจ้างสิ้นสุดลงแล้ว หรือสมมติว่าสัญญาสิ้นสุดแล้ว แต่ในวันที่ 1 มิถุนายน 2558 ลูกจ้างยังมาทำงานให้นายจ้างอยู่ และนายจ้างได้จ่ายค่าตอบแทนให้ อย่างนี้จึงถือว่ามีการทำสัญญาจ้างงานใหม่ขึ้นมาแล้ว

(3)   ต้องพิจารณาเหตุผลว่านายจ้างเลิกจ้างเพราะอะไร แน่นอนนายจ้างอาจมีเหตุผลต่างๆนานาในการพิจารณา ทั้งนี้นายจ้างไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ลูกจ้างรับทราบก็ได้ ถือว่าเป็นสิทธิของนายจ้าง แต่เมื่อสืบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า เป็นการเลือกปฏิบัติกับตนเองเพียงคนเดียวหรือเฉพาะกลุ่ม ทั้งๆที่บริษัทก็มีความจำเป็นต้องใช้ลูกจ้างทำงานในตำแหน่งนี้อยู่ และลูกจ้างคนอื่นๆ แม้สัญญาหมดก็ยังให้ทำงานต่อไป นี้จึงเข้าข่ายเรื่องการเลือกปฏิบัติ ซึ่งสามารถนำไปฟ้องร้องต่อศาลแรงงานได้

(4)   การเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามระยะเวลาในการทำงานครับ คือ 180 วัน

1. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน
2. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน
3. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน
4. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 6 ปีแต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน
5. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 10 ปี ขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน

(5)   สมมติว่านายจ้างมีการต่อสัญญาอัตโนมัติ คือ ยังมาทำงานในวันที่ 1 มิถุนายน 2558 ต่อไปและจ่ายค่าตอบแทน นี้จึงถือว่าสัญญาจ้างฉบับใหม่ที่ไม่มีระยะเวลาแน่นอนในการจ้างเกิดขึ้นแล้ว ต่อมาในเดือนธันวาคม 2558 นายจ้างได้บอกเลิกจ้างลูกจ้างตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 เป็นต้นไป นายจ้างจะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า นอกเหนือจากค่าชดเชยด้วยครับ

รายละเอียดอื่นๆเพิ่มเติม อ่านได้จากที่นี่ครับ

-   สัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา เมื่อเลิกจ้างต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย http://www.thanaiphorn.com/content.php?type=1&id=93

-   แม้จะเป็นการเลิกจ้างเพราะสิ้นสุดสัญญาจ้างตามที่กำหนดเวลาไว้แน่นอนแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม แต่นายจ้างก็ยังต้องจ่ายค่าชดเชยอยู่ดี http://www.thanaiphorn.com/content.php?type=1&id=206


672
เนื่องจากมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ได้วางบรรทัดฐานไว้ว่า “ห้างสรรพสินค้าที่จัดให้มีที่จอดรถ ถ้ารถลูกค้าเกิดการสูญหาย ห้างดังกล่าวนั้นต้องรับผิดชอบร่วมกับบริษัทที่เข้ามาดูแลรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้านั้นๆ”


1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4125/2557

สัญญาที่จำเลยร่วม (ในที่นี้ คือ ห้างสรรสินค้า) ตกลงให้จำเลยที่ 1 (ในที่นี้ คือ บริษัทรักษาความปลอดภัย) ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยบริเวณห้างสรรพสินค้า เป็นการทำอย่างใดอย่างหนึ่งจนสำเร็จแล้ว จำเลยร่วมตกลงจ่ายเงินค่าตอบแทนในผลสำเร็จของงานที่ทำ

การดูแลรักษาความปลอดภัยตามสัญญาจำนองที่ 1 เป็นผู้ควบคุมดูแลพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้าง และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจำเลยร่วม

สัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยร่วม จึงเป็นสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587

ขณะผู้มาใช้บริการขับรถเข้าห้างสรรพสินค้าของจำเลยร่วม จะมีพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 (ในที่นี้ คือ บริษัทจัดการเรื่องรับบัตรเข้าจอดรถ) มอบบัตรจอดรถให้ และรับบัตรจอดรถคืนจากผู้มาใช้บริการเมื่อขับรถออกจากห้าง

พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ย่อมทำให้ลูกค้าที่มาใช้บริการโดยทั่วไปเข้าใจได้ว่า ที่จำเลยร่วมจัดที่จอดรถให้แก่ลูกค้า จำเลยร่วมได้จัดให้มีบริการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยสำหรับทรัพย์สินของจำเลยร่วม

โดยจำเลยร่วมว่าจ้างจำเลยที่ 1 และพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนรับดูแลรักษาความเรียบร้อยและความปลอดภัยแทนจำเลยร่วม โดยถือว่าเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งของจำเลยร่วม เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าผู้มาใช้บริการ ซึ่งถือได้ว่ามีผลโดยตรงต่อยอดการจำหน่ายสินค้าของจำเลยร่วมด้วย

เมื่อพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดโดยปล่อยปละละเลยให้คนร้ายลักรถของ ก. ผู้เอาประกันภัย ซึ่งจอดรถอยู่ในลานจอดรถของจำเลยร่วมไป

จำเลยร่วมซึ่งเป็นตัวการที่มอบหมายให้จำเลยที่ 1 และพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความเรียบร้อยและความภัยในบริเวณลานจอดรถของจำเลยร่วม จึงต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบมาตรา 420 และมาตรา 425

2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7471/2556

กรณีนี้ พบว่า ห้างไม่มีการแจกบัตรจอดรถ ไม่เก็บค่าที่จอดรถ มีแต่กล้องวงจรปิด แต่ห้างก็ยังต้องรับผิดชอบในความสูญหายของรถลูกค้าเช่นเดียวกัน

จำเลยเป็นห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคและบริโภค ย่อมต้องให้ความสำคัญด้านบริการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถ ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของลูกค้าที่จะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่น ๆ หรือไม่

แม้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 8 (9), 34 บัญญัติให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอาคาร ต้องจัดให้มีพื้นที่จอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจร แต่จำเลยยังต้องคำนึงและมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของลูกค้าทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอาเอง

การที่จำเลยเคยจัดให้มีการแจกบัตรสำหรับรถของลูกค้าที่เข้ามาในห้างซึ่งเป็นวิธีการที่ค่อนข้างรัดกุม เพราะหากไม่มีบัตรผ่าน กรณีจะนำรถยนต์ออกไปจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของจำเลย

แต่ขณะเกิดเหตุกลับยกเลิกวิธีการดังกล่าวเสียโดยใช้กล้องวงจรปิดแทน เป็นเหตุให้คนร้ายสามารถเข้าออกลานจอดรถห้างฯ ของจำเลยและโจรกรรมรถได้โดยง่ายยิ่งขึ้น

แม้จำเลยจะปิดประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ รวมทั้งการที่ลูกค้าก็ทราบถึงการยกเลิกการแจกบัตรจอดรถ แต่ยังนำรถเข้ามาจอดก็ตาม ก็เป็นเรื่องข้อกำหนดของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว ไม่มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดในการทำละเมิดของจำเลย
 

3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5800/2553

กรณีนี้ คือ รถหายในห้างที่แจกบัตรเข้าออกลานจอดรถ ซึ่งศาลฎีกาได้พิพากษาให้ห้างรับผิดชอบในความสูญหายของรถ


จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับฝากรถของลูกค้าที่นำมาจอดเพื่อใช้บริการของห้างจำเลยที่ 1

แต่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างห้างจำเลยที่ 1 อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ซึ่งกำหนดให้เจ้าของอาคารต้องมีที่จอดรถ จำเลยที่ 1 จึงต้องจัดสร้างที่จอดรถดังกล่าวและจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ในการดูแลรักษาความปลอดภัยห้างของจำเลยที่ 1

ซึ่งในการนำรถยนต์เข้ามาจอด ต้องรับบัตรจอดรถจากพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 และเมื่อจะนำรถยนต์ออกต้องแสดงบัตรจอดรถที่ตรงกับหมายเลขทะเบียนรถต่อพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ตรวจดูว่าถูกต้องจึงจะอนุญาตให้นำรถออกจากห้องของจำเลยที่ 1 ได้

แม้จำเลยที่ 1 ไม่เก็บค่าจอดรถ แต่ก็เป็นการจัดที่จอดรถให้แก่ลูกค้าตามพระราชบัญญัติของกฎหมาย และตามพฤติการณ์ยังเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งของห้างจำเลยที่ 1 ที่มีผลต่อยอดจำหน่ายสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยตรง ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอื่น

จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ให้บริการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3

ทั้งห้างของจำเลยที่ 1 มีลูกค้าขับรถยนต์มาจอดและเข้าซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก การดำเนินคดีย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคโดยส่วนรวมตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39 คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโจทก์ย่อมมีอำนาจรับเรื่องไว้พิจารณาและแต่งตั้งให้พนักงานอัยการดำเนินคดีแทนผู้บริโภคได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 19 นาฬิกา ผู้บริโภคขับรถยนต์พิพาทไปจอดที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยรับบัตรจอดรถฉบับบนจากจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ที่ประจำอยู่ประตูทางเข้าของห้าง

โดยจำเลยที่ 4 ได้เขียนกำกับหมายเลขทะเบียนรถยนต์ของผู้บริโภคไว้ในบัตรจอดรถก่อนมอบให้ผู้บริโภค

เมื่อจอดรถแล้วผู้เสียหายได้เข้าไปซื้อสินค้าในห้างของจำเลยที่ 1

หลังจากนั้นประมาณ 50 นาที ผู้บริโภคได้กลับมาที่จอดรถ ปรากฏว่ารถยนต์พิพาทหายไปแล้ว โดยบัตรจอดรถยังอยู่ที่ผู้บริโภค

การออกบัตรจอดรถให้เจ้าของรถยนต์ที่ผ่านเข้ามาจอดในลานจอดรถไม่ได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอ โดยเขียนกำกับเฉพาะหมายเลขทะเบียนแต่ไม่ได้ระบุหมวดตัวอักษรหน้าหมายเลขทะเบียน และบัตรอ่อนไม่ระบุวันเดือนปีและเวลาที่รถยนต์เข้ามาจอด จึงง่ายต่อการปลอมแปลงและนำมาใช้ซ้ำ

การที่พนักงานรักษาความปลอดภัยปล่อยให้คนร้ายนำรถของผู้บริโภคออกจากลานจอดรถโดยไม่ระมัดระวังในการตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัด จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้รถยนต์ถูกลักไป เป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 และที่ 4 พนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างที่กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 อันเป็นการละเมิดต่อผู้บริโภค ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และ 425 จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งการละเมิดต่อผู้บริโภค


ตามสัญญาว่าจ้างงานรักษาความปลอดภัย ครอบคลุมเฉพาะการรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของผู้ว่าจ้างและลูกจ้างของผู้ว่าจ้างเท่านั้น แต่ตามสัญญาข้อ 1 ระบุว่านอกจากจำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ทำการรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 และลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แล้วยังรวมตลอดถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์หรืออยู่ภายใต้การควบคุมดูแลหรือครอบครองของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในบริเวณห้างจำเลยที่ 1 ด้วย

นอกจากนี้ยังได้ระบุในสัญญาว่าจ้างงานรักษาความปลอดภัย ข้อ 7.3 ว่า “ประสานงานและให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือในการป้องกันและปราบปรามโจรกรรม การก่อวินาศกรรม การก่ออาชญากรรมทุกรูปแบบตลอดจนการก่อความวุ่นวาย การจลาจลต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นภายในบริเวณสถานที่ของผู้ว่าจ้าง” ด้วย

จึงย่อมรวมถึงรถยนต์ของผู้บริโภคซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 ที่มาจอดในบริเวณห้างและถูกคนร้ายลักไปเพราะการลักทรัพย์ถือเป็นการโจรกรรมและการก่ออาชญากรรมอย่างหนึ่ง จึงอยู่ในขอบเขตการว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยตามสัญญาว่าจ้างงานรักษาความปลอดภัย

จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนที่รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ในการรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินในห้างจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันกระทำละเมิดทำให้รถยนต์พิพาทของผู้บริโภคสูญหายไป

จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งตัวแทนของจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในกิจการที่รับมอบหมายให้ทำแทนนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425

673
ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2557 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 43 (2) ไว้ว่าห้ามมิให้ขับขี่รถในขณะเมาสุรา และมาตรา 142 วรรคสอง ให้เจ้าพนักงานจราจร มีอำนาจสั่งให้ผู้ขับขี่ทดสอบ และในวรรคท้าย ถ้าผู้ขับขี่ไม่ยอมให้ทดสอบโดยไม่มีเหตุอันสมควรให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ฝ่าฝืนมาตรา 43 (2) คือ “ขับรถในขณะเมาสุรา” ดังนั้นเมื่อผู้ขับรถขณะที่เมา แต่ไม่ยอมให้ตำรวจเป่าเพื่อตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์  จึงมีความผิดและจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป


พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522

มาตรา 142  เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถในเมื่อ

(1) รถนั้นมีสภาพไม่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6

(2) เห็นว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลใดในรถนั้นได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอันเกี่ยวกับรถนั้น ๆ

ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ฝ่าฝืนมาตรา 43 (1) หรือ (2) ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ดังกล่าวว่าหย่อนความสามารถในอันที่จะขับหรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่

ในกรณีที่ผู้ขับขี่ตามวรรคสองไม่ยอมให้ทดสอบ ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจกักตัวผู้นั้นไว้ดำเนินการทดสอบได้ภายในระยะเวลาเท่าที่จำเป็นแห่งกรณีเพื่อให้การทดสอบเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว หากผู้นั้นยอมให้ทดสอบและผลการทดสอบปรากฏว่าไม่ได้ฝ่าฝืนมาตรา 43 (1) หรือ (2) ก็ให้ปล่อยตัวไปทันที

ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น หากผู้นั้นยังไม่ยอมให้ทดสอบตามวรรคสามโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นฝ่าฝืนมาตรา 43 (2)

การทดสอบตามมาตรานี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 10)พ.ศ. 2557
มาตรา 43  ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถ
(๑) ในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ
(๒) ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น
(๓) ในลักษณะกีดขวางการจราจร
(๔) โดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน
(๕) ในลักษณะที่ผิดปกติวิสัยของการขับรถตามธรรมดา หรือไม่อาจแลเห็นทางด้านหน้าหรือด้านหลัง ด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านได้พอแก่ความปลอดภัย
(๖) คร่อมหรือทับเส้นหรือแนวแบ่งช่องเดินรถ เว้นแต่เมื่อเปลี่ยนช่องเดินรถ เลี้ยวรถ หรือกลับรถ
(๗) บนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร เว้นแต่รถลากเข็นสำหรับทารก คนป่วยหรือคนพิการ
(๘) โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น
(๙) ในขณะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาโดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น

     


674
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: คดีลักทรัพ
« เมื่อ: มกราคม 31, 2015, 10:17:30 am »
          เป็นคำถามสั้นๆ(ที่ทนายก็อยากตอบ)ที่น่าสนใจมากเลยทีเดียวว่า กรณีอย่างนี้จะติดคุกมั๊ย? เพราะมีเยอะแยะมากมายที่ทำของหายแล้วมักจะไม่ได้คืน โดยที่คนเก็บได้ก็เก็บเงียบ..ดีไม่ดี รู้ทั้งรู้ว่าเจ้าของเค้ากำลังตามหาอยู่ก็ทำเนียนบอก ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เกี่ยว อะไรไปโน้นเลย แล้วก็เอาของเค้าไปเป็นของตัวเองอย่างนี้
           อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้เล็งเห็นแล้วว่า อาจเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นจึงได้บัญญัติกฎหมายขึ้นมารองรับตั้งแต่ พ.ศ.2468 และมีการแก้ไขเรื่อยมากระทั่งเป็นฉบับปัจจุบัน ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 ฉบับ นั่นก็คือ กฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษติดคุกด้วย
มาดูกันว่ามันเกี่ยวข้องอย่างไร และถ้าคิดจะริบของเค้าที่ทำตกไว้ ต้องได้รับโทษอย่างไร
          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้เขียนไว้ใน มาตรา 1323 ว่า “บุคคลเก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหาย ต้องทำอย่างหนึ่งอย่างใด ดั่งต่อไปนี้
              (1) ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ของหายหรือเจ้าของ หรือบุคคลอื่นผู้มีสิทธิ จะรับทรัพย์สินนั้น หรือ
              (2) แจ้งแก่ผู้ของหายหรือเจ้าของ หรือบุคคลอื่นผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สิน นั้นโดยมิชักช้า หรือ
              (3) ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่ตำรวจนครบาล หรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่น ภายในสามวัน และแจ้งพฤติการณ์ตามที่ทราบอันอาจเป็นเครื่องช่วยในการสืบ หาตัวบุคคลผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้น
              แต่ถ้าไม่ทราบตัวผู้ของหาย เจ้าของ หรือบุคคลอื่นผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สิน ก็ดี หรือบุคคลดั่งระบุนั้นไม่รับมอบทรัพย์สินก็ดี ท่านให้ดำเนินการตามวิธีอัน บัญญัติไว้ในอนุ มาตรา (3)
              ทั้งนี้ ท่านว่าผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหายต้องรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ด้วย ความระมัดระวังอันสมควรจนกว่าจะส่งมอบ”

        หมายความว่า ถ้าเก็บของได้ต้องนำไปคืนเจ้าของหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองโดยเร็วนั่นเอง
        และยังมีต่อในมาตรา มาตรา 1324ว่า “ ผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหาย อาจเรียกร้องเอารางวัลจาก บุคคลผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้นเป็นจำนวนร้อยละสิบแห่งค่าทรัพย์สินภายใน ราคาพันบาท และถ้าราคาสูงกว่านั้นขึ้นไป ให้คิดให้อีกร้อยละห้าในจำนวน ที่เพิ่มขึ้นแต่ถ้าผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหาย ได้ส่งมอบทรัพย์สินแก่ตำรวจ นครบาล หรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นไซร้ ท่านว่าให้เสียเงินอีกร้อยละสองครึ่ง แห่งค่าทรัพย์สินเป็นค่าธรรมเนียมแก่ทบวงการนั้น ๆ เพิ่มขึ้นเป็นส่วนหนึ่ง ต่างหากจากรางวัลซึ่งให้แก่ผู้เก็บได้ แต่ค่าธรรมเนียมนี้ท่านจำกัดไว้ไม่ให้ เกินร้อยบาท
        ถ้าผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหายมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติใน มาตรา ก่อนไซร้ ท่านว่าผู้นั้นไม่มีสิทธิจะรับรางวัล”

        สำหรับมาตรานี้ ได้สิทธิคนเก็บได้เรียกเอารางวัล (อิ อิ ชอบละซิ) ร้อยละ 10 ของมูลค่าทรัพย์ หรือง่ายๆ ถ้าเก็บเงินพันได้ จะได้รางวัลร้อยนึง แต่ถ้าเกินไป จะได้รางวัลเพิ่มอีกร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์นั้น...เข้าใจตรงกันนะ
            และยังมีอีกในมาตรา มาตรา 1325 ว่า “ถ้าผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหายได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ มาตรา 1323 แล้ว และผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้นมิได้เรียกเอาภายในหนึ่งปีนับแต่วัน ที่เก็บได้ไซร้ ท่านว่ากรรมสิทธิ์ตกแก่ผู้เก็บได้
         แต่ถ้าทรัพย์สินซึ่งไม่มีผู้เรียกเอานั้นเป็นโบราณวัตถุไซร้ กรรมสิทธิ์แห่ง ทรัพย์สินนั้นตกแก่แผ่นดิน แต่ผู้เก็บได้มีสิทธิจะได้รับรางวัลร้อยละสิบแห่งค่า ทรัพย์สินนั้น”

         หมายความว่า ถ้าเก็บทรัพย์ได้โดยส่งมอบให้เจ้าหน้าที่แล้ว เมื่อผ่านไปหนึ่งปีไม่มีใครมารับ..อันนี้เราก็ไปขอรับมาเป็นของเราโดยถูกต้องตามกฎหมายได้ เว้นแต่เป็นวัตถุโบราณอะไรเทือกนั้น อันนี้ต้องเข้าหลวงนะครับ
           แล้วถ้าไม่คืนละ จะเกิดอะไรขึ้น??????
           คุณกำลังเป็นผู้กระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ....ติดคุกได้นะตัวเอง...
        แล้วมาตรา 352 เค้าเขียนไว้อย่างไรมาดูกัน..
            ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352  ได้บัญญัติว่า “ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่น เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคล ที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์ สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียง กึ่งหนึ่ง”

        จากคำถาม...ตอบได้เลยว่าก็มีโอกาศติดคุกอยู่นะครับ ส่วนจะติดจริงหรือรอลงอาญาก็อยู่ที่การสู้คดีเป็นกรณีๆไปครับ..
        เห็นมั๊ย...ถ้าคิดจะเอาของเค้าก็มีโอกาสติดคุกนะ ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดถ้าเก็บของได้ก็นำไปคืนเค้าซะหรือถ้าไม่รู้ว่าเป็นของใครก็นำไปคืนเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเพื่อตามหาเจ้าของต่อไป ซึ่งท่านก็จะได้รับการขนานนามว่าเป็นคนดี อาจได้รับใบประกาศเกียรติคุณว่าได้ทำความดีติดข้างฝาโก้ๆก็เป็นได้.....
                                                                                                                                                                                  ทนายพร

675
        การที่จะพิจารณาว่ากรณีใดเป็นการเลิกจ้างเป็นธรรมแล้ว หรือไม่เป็นธรรมนั้น กฎหมายได้เขียนไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่า “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่า การเลิกจ้างลูกจ้างนั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับขณะเลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้แทน โดยให้ศาลคำนึงถึงอายุลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง และเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณา”

       ซึ่งเมื่อพิจารณาจากตัวบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นแล้วก็จะเห็นว่าไม่ได้มีหลักเกณฑ์ตายตัวเสมอไป และไม่ได้บอกไว้ว่าการเลิกจ้างด้วยเหตุผลใดเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม ซึ่งก็ต้องศึกษาตามแนวบรรทัดฐานศาลฎีกา ที่ได้กำหนดว่า จะต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการการเลิกจ้างเป็นสำคัญว่า มีเหตุอันสมควรหรือสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างหรือไม่  แต่อะไรคือเหตุอันสมควรก็ยังต้องมีคนกลางชี้ขาดว่าเหตุผลที่ยกมากล่าวอ้างในการเลิกจ้างลูกจ้างนั้นสมควรเพียงพอหรือไม่ เช่น หากนายจ้างแจ้งเลิกจ้างลูกจ้างโดยเลือกปฎิบัติเฉพาะบางคน(เลิกจ้างข้อหาหมั่นไส้,หัวแข็ง อะไรประมาณนี้) ก็อาจเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมลูกจ้างก็สามารถเรียกค่าเสียหายได้ แต่ถ้าลูกจ้างทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง หรือเป็นความผิดที่เป็นเหตุให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 ในกรณีอย่างนี้ก็อาจเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม แต่อย่างไรก็ตามต้องดูข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆไปครับ
                                                                                                                                                                                  ทนายพร

หน้า: 1 ... 43 44 [45] 46 47 ... 50