21/05/24 - 07:58 am


แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - ทนายพร

หน้า: 1 ... 42 43 [44] 45 46 ... 50
646
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจในเรื่อง “สัญญา” ก่อนว่าโดยทั่วๆไปมีสัญญาเกี่ยวกับการใช้แรงงานนั้นมีอยู่ 2 ประเภท นั้นก็คือ “สัญญาจ้างแรงงาน” กับ “สัญญาจ้างทำของ” ซึ่งทั้งสองประเภทนี้มีรายละเอียดที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งจะขอสรุปง่ายๆสั้นๆให้ได้เข้าใจดังนี้คือ

1.สัญญาจ้างแรงงาน คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งที่เรียกว่า ลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่ บุคคลอีกคนหนึ่งที่เรียกว่า นายจ้าง และ นายจ้างตกลงจะให้สินจ้างแก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ โดยมีสาระสำคัญคือ มุ่งเน้นแรงงานที่ลูกจ้างทำ นายจ้างมีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาลูกจ้าง ลูกจ้างมีสิทธิรับเงินค่าจ้าง แม้งานยังไม่สำเร็จ นายจ้างจะต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้าง กรณีลูกจ้างละเมิดต่อบุคคลอื่นในทางการที่จ้าง ลูกจ้างใช้เครื่องมือ  ฝีมือ ความคิด ตามคำสั่งของนายจ้าง จ้างแรงงานมีกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายเงินทดแทน และกฎหมายประกันสังคม เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นสวัสดิการและคุ้มครองให้ด้วย และเมื่อมีข้อพิพาท สามารถฟ้องคดีที่ศาลแรงงานซึ่งเป็นศาลชำนัญพิเศษเท่านั้น

2 สัญญาจ้างทำของ คือ คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จ ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น โดยมีสาระสำคัญคือ มุ่งเน้นที่ผลสำเร็จของงาน ผู้ว่าจ้างไม่มีอำนาจควบคุมผู้รับจ้าง ผู้รับจ้างใช้เครื่องมือ  ฝีมือ ความคิด ของตนเอง ผู้ว่าจ้างไม่ต้องร่วมรับผิดกับผู้รับจ้าง กรณีผู้รับจ้างละเมิดต่อบุคคลอื่นในระหว่างทำงานที่ว่าจ้าง จ้างทำของมีเพียงกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บังคับคู่สัญญา ไม่มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานและไม่มีสวัสดิการให้ เมื่อมีข้อพิพาท ให้ฟ้องคดีที่ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีแพ่งและพาณิชย์ (ได้แก่ศาลแพ่ง / ศาลจังหวัด / ศาลแขวง แล้วแต่กรณี)

เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดที่เล่ามานั้น น่าจะเป็นสัญญาจ้างทำของ โดยมีการว่าจ้างให้ไปเดินสายเมนไฟ เดินสวิตช์ไฟ เดินโคมไฟ  และ ทาสีพื้นร้าน ปูพื้นห้องในร้าน เมื่องานเสร็จผู้ว่าจ้างไม่ยอมจ่ายเงินค่าจ้างให้ตามสัญญา ดังนี้ จึงเป็นการผิดสัญญาในทางแพ่ง

คุณสามารถฟ้องต่อศาล(ศาลแขวง)เพื่อบังคับให้ผู้ว่าจ้างจ่ายค่าจ้างและดอกเบี้ยผิดนัดให้กับคุณได้ครับ ซึ่งเรื่องราวไม่ได้ซับซ้อนอะไร และข้อแนะนำในเบื้องต้นนั้น ขอให้คุณทำ “หนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้” เสียก่อน เผื่อว่าผู้ว่าจ้างได้รับหนังสือแล้วจะสำนึกและรู้สึกตัวก็อาจจะนำเงินมาชำระให้คุณโดยไม่ต้องฟ้องศาลก็ได้นะครับ...

ทนายพร


647
ถาม-ตอบปัญหากฎหมาย / Re: พี่หนูถูกกล่าวหา
« เมื่อ: สิงหาคม 22, 2015, 11:23:12 pm »
ขอตอบแบบยาวๆ เพื่อเป็นประโยชน์กับบุคคลอื่นด้วยนะครับ...ก่อนอื่นให้กำลังใจนะครับหากเรื่องราวที่เล่ามาเป็นความจริง อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กระบวนการต่างๆก็จะเดินไปตามขั้นตอนที่ได้กำหนดไว้ นั่นก็หมายความว่า เมื่อพนักงานสอบสวนได้สอบสวนแล้วว่าคดี “มีมูล” เพียงพอที่จะสั่งฟ้อง ก็จะต้องส่งเรื่องให้กับพนักงานอัยการ เพื่อดำเนินการสั่งฟ้องต่อศาลต่อไปครับ ส่วนข้อแนะนำมีดังนี้ครับ

๑.   หากพี่ของคุณไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดและไม่รู้จักจริงๆ ความจริงก็คือความจริง ยังงัยก็ต้องมีหลักฐานยืนยันความบริสุทธิ์ได้ เช่น ในวันเวลาดังกล่าว พี่ของคุณไม่ได้อยู่ในสถานที่เกิดเหตุ หรือไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องหาพยานบุคคลและพยานหลักฐานอื่นมายืนยัน ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นรายละเอียดซึ่งจะต้องหาทนายความเข้าให้ความช่วยเหลือทางคดีครับ

๒.   ไม่แน่ใจว่าวันที่ ๓๑ สิงหาคม นี้อัยการเรียกไปทำอะไร ซึ่งอาจจะเป็นการนำตัวพี่ของคุณส่งฟ้องต่อศาล ซึ่งหากเป็นอย่างนี้ คงต้องหาหลักทรัพย์เพื่อขอประกันตัวต่อสู้คดีต่อไป ซึ่งต้องใช้หลักประกันประมาณ ๑๕๐,๐๐๐-๒๐๐,๐๐๐ บาท (หลักทรัพย์อาจเป็นเงินสด,ที่ดิน,บุคคล ก็ได้ หรือหากหาไม่ได้จริงๆ ก็จะมีบริษัทขายประกันอิสรภาพอยู่ที่ศาลนั่นแหละลองติดต่อดูครับ ซึ่งจะเสียเบี้ยประกันประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของทุนประกัน เช่น หากศาลเรียกหลักประกัน ๑๕๐,๐๐๐ บาท ก็จะต้องเสียเงินซื้อประกันประมาณ ๑๕,๐๐๐ บาท)

๓.   ให้กำลังใจนะครับ ใจเย็นๆ ค่อยๆเรียบเรียงเรื่องราวแล้วพยายามหาหลักฐานให้ได้มากที่สุดและจงเชื่อมั่นในความยุติธรรม แล้วทุกอย่างจะเป็นทางออกเองครับ ซึ่งหากผลสุดท้ายออกมาแล้วว่าพี่ของคุณไม่ได้ทำจริงๆ ผู้ที่กล่าวหาคุณก็จะมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งมีโทษทางอาญาครับ

๔.   ข้อกฎหมาย – ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖  “ผู้ใดข่มขืนกระทําชําเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กําลังประทุษร้ายโดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สี่ปี่ถึงยี่สิบปี่ และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท”

ทนายพร

648
ขอตอบแบบยาวๆ เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้อื่นด้วยนะครับ
อย่างนี้ครับ

การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นเป็นความผิดอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกและโทษปรับด้วย ดังนั้นในการดำเนินชีวิตจะต้องระมัดระวัง อย่าได้ไปพูดพาดพิงถึงบุคคลอื่นในทางที่เสียหายซึ่งอาจจะเป็นความผิดและมีโทษติดคุกได้

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะตอบคำถาม ต้องรู้ก่อนว่า กฎหมายข้อหาหมิ่นประมาทนั้นมีว่าอย่างไร ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติไว้ดังนี้

มาตรา 326* ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 328* ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฎไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษรกระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

ส่วนมาตรานี้ เป็นข้อยกเว้นไม่ต้องรับโทษหากได้ดำเนินการตามมาตรา 329 และ 330

มาตรา 329  ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(1) เพื่อความชอบธรรม  ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชม ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

มาตรา 330  ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

ดังนั้น จากคำถาม ขอตอบดังนี้ครับ
1.   เท่าที่อ่านรายละเอียดนั้น การด่าว่านั้น ต้องดูว่าข้อความที่ด่านั้น ด่าว่าอย่างไร ถ้าทำให้คนฟังรู้สึกถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ก็อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาทครับ
2.   ถึงแม้ว่าจะไม่มีการเอ่ยชื่อจริง แต่ถ้าคนฟังเข้าใจได้ว่าเป็นใครก็อาจเข้าข่ายเหมือนกัน แต่ถ้าผู้ฟังหรือบุคคลทั่วไปฟังแล้วไม่รู้ว่าเป็นใครที่แน่ชัด อันนี้ก็ไม่เข้าข่ายความผิดครับ ซึ่งในประเด็นนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องมีการพิสูจน์ให้ได้ข้อยุติก่อนครับ
ทนายพร

649
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า เมื่อลูกจ้างประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใด สิ่งที่ควรทำอย่างแรกนั้นคือต้องดูแลลูกจ้างนั้นให้ได้รับการรักษาอย่างสุดความสามารถ เพราะไม่มีใครอยากให้เกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดูแลเยียวยากันตามสมควรครับ  ดังนั้น ข้อแนะนำคือ บริษัทควรพิจารณาเปลี่ยนแปลงงานที่เหมาะสมให้กับสภาพร่างกายของลูกจ้าง ซึ่งบริษัทเองก็จะได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติสงเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการพ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้บริษัทต้องจ้างผู้พิการเข้าทำงาน 1 คน ต่อลูกจ้าง 100 คน และบริษัทยังจะได้รับประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย

อย่างไรก็ตามเมื่อถามมาก็จะตอบตามคำถามนะครับ

“บริษัทจะมีวิธีการคิดจ่ายค่าชดเชยอย่างไรคะ ทั้งแบบทุพพลภาพ และไม่ทุพพลภาพ จะคิดตามมาตรา 118 หรือเปล่าคะ?”

ตอบอย่างนี้ครับ   เรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยกรณีเลิกจ้างนั้น ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 แล้ว โดยคิดตามอายุงาน ซึ่งมาตรา 118 ก็ไม่ได้ระบุว่ากรณีทุพพลภาพจะต้องจ่ายค่าชดเชยอย่างไร ถ้าไม่ทุพพลภาพนั้น แน่นอนว่าจะต้องจ่ายตามมาตรา 118 ถูกต้องแล้วครับ

อนึ่ง กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างเนื่องจากลูกจ้างประสบอันตรายหรือทุพพลภาพนั้น หากลูกจ้างเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ลูกจ้างก็ยังสามารถฟ้องศาลเพื่อขอให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงานหรือให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ได้ครับ

ทนายพร

650
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า อันว่าสัญญาจ้างตามกฎหมายแรงงานนั้น มีด้วยกัน 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ หนึ่งสัญญาจ้างที่มีระยะเวลา สองสัญญาจ้างที่ไม่กำหนดระยะเวลา และสุดท้ายเป็นสัญญาจ้างโดยปริยาย ซึ่งสัญญาสัญญาจ้างทดลองงานนั้นถือว่าเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดเวลา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน  พ.ศ. 2541  มาตรา 17 วรรคสอง  ครับ

ดังนั้นเมื่อนายจ้างเลิกจ้าง แม้จะอยู่ในระหว่างทดลองงาน  จึงต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือ  ก่อนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง 1 เดือน ตาม มาตรา 17 วรรคสอง  เมื่อไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าต้องจ่ายค่าจ้างหนึ่งงวดการจ่ายค่าจ้างเป็นค่าบอกกล่าวล่วงหน้า หรือที่กฎหมายเรียกว่า สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าครับ

กฎหมายแรงงานเป็นกฎหมายมหาชนที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษทางอาญา(โทษทางอาญา มี 5 สถาน คือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน) ส่วนบทลงโทษตามมาตรา 17 นั้นไม่ได้มีบัญญัติไว้ หรือให้เข้าใจง่ายๆก็คือ ไม่มีโทษใดๆครับ

อย่างไรก็ตาม หากนายจ้างไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ลูกจ้างสามารถยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน(ยื่นที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด หรือในเขตพื้นที่) เพื่อให้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายได้ตามมาตรา 123  ซึ่งเมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้รับคำร้องแล้วจะต้องมีคำสั่งภายใน 60 วันครับ
ทนายพร

651
โดยปกติบริษัทมักจะกำหนดเรื่องการเกษียณอายุไว้ในข้อบังคับการทำงานของบริษัท ซึ่งมักจะกำหนดไว้ในเรื่องการเลิกจ้างและการพ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน ซึ่งจะอธิบายถึงการพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานมีอะไรบ้าง อาทิเช่น การลาออก, การเลิกจ้าง และการเกษียณอายุ เป็นต้น

            แต่ก็มีเหมือนกันที่บริษัทไม่ได้ระบุเรื่องการเกษียณอายุเอาไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน แต่การที่ไม่ระบุเรื่องการเกษียณอายุไว้ ก็ไม่ได้ถือว่าทำผิดกฎหมายแรงงานแต่อย่างใดครับ แต่ถ้าไม่มีข้อกำหนดเรื่องการเกษียณอายุให้ชัดเจนเอาไว้ ก็หมายถึงบริษัทจ้างพนักงานทำงานไปตลอดชีวิตจนกว่าพนักงานจะตายจากบริษัทไป หรือจนกว่าพนักงานจะลาออก ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ส่วนข้อดีก็คือพนักงานก็จะทำงานไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะลาอออกไปเอง ซึ่งแน่นอนว่าหากพนักงานลาออกก็จะไม่ได้รับค่าชดเชยใด ๆ จากบริษัทเพราะถือว่าพนักงานลาออก แต่ถ้าพนักงานทำงานต่อไปเรื่อย ๆ ก็จะมีงานทำและมีเงินได้ไปเรื่อย ๆ ตลอดชีวิตครับ

และหากข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานได้กำหนดการเกษียณอายุไว้ เมื่ออายุถึงกำหนด บริษัทก็จะ “ให้การเป็นพนักงาน”ด้วยเหตุเกษียณอายุหรือเป็นการที่บริษัทแสดงเจตนาบอกเลิกจ้างเมื่อพนักงานมีอายุครบเกษียณ ซึ่งจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน ตามมาตรา 118 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน กำหนดครับ
ทนายพร

652
ขออภัยด้วยครับ ไม่มีคำถามและไม่มีรายละเอียด ไม่รูจะตอบอย่างไรเหมือนกันครับ
ถ้าอ่านจากหัวข้อ ก็อนุมาณได้ว่า น่าจะเป็นการเบิกเงินค่าล่วงเวลาอันเป็นเท็จ ยังงัยส่งรายละเอียดและคำถามมาใหม่นะครับ
ทนายพร

653
ตอบตามคำถามเลยนะครับ
1.   ตอบ ถ้าค่าน้ำมันเหมาจ่ายโดยไม่ต้องมีใบเสร็จมาเบิก ค่าน้ำมันดังกล่าวถือว่าเป็นค่าจ้าง เมื่อเป็นค่าจ้างต้องนำมาคำนวณค่าชดเชยด้วยครับ ดังนั้น หากลูกจ้างถูกเลิกจ้างในวันที่ 28 ก็จะได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง(เงินเดือน+ค่าน้ำมัน) 1 เดือน และค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีก 1 เดือน(กฎหมายใช้คำว่า 1 งวดของค่าจ้าง)

2.   ตอบ เกือบถูกครับ  ต้องรวมค่าน้ำมันด้วย

3.   ตอบ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่เป็นเงินได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน อันจะเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี แต่จะเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่ง ประมวลรัษฎากร ต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้นำ ภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่บริษัทฯ ได้หักและนำส่งไว้ไป ดังนั้น จึงต้องเสียภาษีเฉพาะค่าตกใจ ถูกต้องแล้วครับ

4.   ตอบ ได้ค่าจ้างเท่ากับวันที่ทำงานมา + ค่ำน้ำมัน+ค่าตกใจเดือนครึ่ง

หวังว่าคำตอบคงจะทันเวลานะครับ
ทนายพร

654
ถ้ากระจกที่ติดรอบอาคาร แล้วทำให้แสงแดดส่องสะท้อนเข้าไปในบริเวณบ้านที่อยู่ใกล้เคียงอาคารนั้น เจ้าของอาคารชุดมีความผิดต้องชดใช้ค่าเสียหาย

เนื่องจากขณะนี้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3772/2557
วางบรรทัดฐานในเรื่องนี้ไว้แล้ว

เนื่องจากมีกรณีที่ชาวบ้านที่อยู่อาศัยใกล้กับโครงการอาคารขนาดใหญ่แห่งหนึ่งย่านสุขุมวิท กรุงเทพมหานคร ซึ่งติดตั้งกระจกรอบตัวอาคาร แสงสะท้อนจากกระจก ก่อให้เกิดความร้อนจนไม่สามารถใช้ชีวิตในบ้านตนเองได้ ได้มาฟ้องศาลเพื่อขอให้อาคารดังกล่าวแก้ไขความเดือดร้อน และเรียกค่าสินไหมทดแทนจนกว่าจะแก้ไขความเดือดร้อนให้ลุล่วงไป

โดยบรรยายฟ้องว่า ระหว่างเวลา 15.30 ถึง 18 นาฬิกาของทุกวัน ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายนของทุกปี เกิดภาวะตะวันอ้อมข้าว แสงแดดซึ่งกระทบกับกระจกอาคารจะสะท้อนและส่องเข้าไปในบ้านของชาวบ้านแถบนั้น ทำให้เกิดแสงสว่างและอุณหภูมิในบ้านสูงขึ้นมาก จนไม่สามารถพักอาศัยได้อย่างปกติสุข

ทางอาคารก็สู้ว่า แสงแดดนั้น เป็นช่วงตะวันอ้อมข้าว ถือเป็นเหตุทางธรรมชาติ และแปรเปลี่ยนตามฤดูกาลในแต่ละปี  มิได้เกิดจากการที่ละเมิดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ จึงไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ

อย่างไรก็ตามศาลฎีกาเห็นว่า การที่ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านและได้รับผลกระทบจากแสงสว่างที่สะท้อนจากอาคาร สาดส่องเข้าในบ้าน ด้วยการกระทำของทางอาคารโดยตรง ย่อมถือได้ว่า เป็นการทำละเมิดเจ้าของบ้านข้างเคียงแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 421 บัญญัติว่า การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย

พิพากษา ให้เจ้าของโครงการจ่ายค่าเสียหายแก่ร่างกายและจิตใจ ค่าตรวจสุขภาพรายปี ค่าเสียโอกาสใช้สอยพื้นที่หน้าบ้าน
โดยมีคำพิพากษาดังนี้

ให้เจ้าของโครงการอาคารชุด ชดใช้ค่าเสียหายแก่ร่างกายและจิตใจ ตลอดจนค่าตรวจสุขภาพแก่โจทก์ทั้งสี่ คนละ 10,000 บาทต่อปี (คดีนี้ มีโจทก์ยื่นฟ้อง 4 คน)

ค่าเสียโอกาสใช้สอยพื้นที่หน้าเรือนแถวทั้งสามหลังรวม 7,000 บาทต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าเจ้าของโครงการนี้จะแก้ไขความเสียหายได้สำเร็จ หรือหมดสิ้นไปด้วยเหตุอื่น

 

655
ปัจจุบันมีการนอกใจภรรยาและนอกใจสามีเป็นจำนวนมาก แต่ทั้งนี้การดำเนินคดีกับชายชู้หรือหญิงชู้หรือเมียน้อยนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 ได้คุ้มครองสิทธิของคู่สมรสเพียงฟ้องเรียกค่าทดแทนเท่านั้น การฟ้องเรียกค่าทดแทนฟ้องชายชู้หรือเมียน้อยสามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ.มาตรา 1523 วรรคสอง 

โดยอายุความในการดำเนินคดีกับชายชู้หรือเมียน้อยต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่รู้หรือควรรู้เกี่ยวกับการมีชู้หรือการล่วงเกินภริยาในทำนองชู้สาว ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1529

แต่ทั้งนี้จะฟ้องให้บังคับภริยาน้อยหรือชายชู้ยุติความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีหรือภรรยาตนเองไม่ได้ เพราะสภาพแห่งคำขอไม่เปิดช่องให้ทำได้และไม่สามารถบังคับได้และจะเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดเป็นรายประเด็น จนกว่าจะยุติความสัมพันธ์ก็ไม่ได้อีกเช่นเดียวกัน

อีกทั้งถ้าเป็นเพียงการแอบได้เสียกันแบบลับๆ ไม่ถือว่าเป็นหญิงชู้หรือเมียน้อยที่จะเรียกค่าทดแทนตามกฎหมายได้ ทั้งนี้มีหลายคดีที่เมียน้อยไปอยู่กินกับสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้อื่น มีการซื้อคอนโดให้ ซื้อบ้านให้ แต่แอบมาลักลอบได้เสียกันถือว่า ไม่มีความผิดตามกฎหมาย ศาลจะถือว่าเป็นการลักลอบได้เสียกันและมักจะยกฟ้อง


ในที่นี้ ชายชู้ หมายถึง การที่ชายไปเป็นชู้กับภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้อื่น โดยมีการล่วงเกินภริยาผู้อื่นไปในทำนองชู้สาว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ตัวอย่างการเป็นชู้ เช่น ไปกอดจูบลูบคลำภริยาผู้อื่นหรือไปร่วมหลับนอน ร่วมประเวณีกับภริยาผู้อื่น ไม่ว่าจะกระทำในที่ลับ ก็ถือว่าเป็นชู้แล้วตามกฎหมาย
 
หญิงชู้หรือเมียน้อย หมายถึง หญิงไปแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตัวเองมีความสัมพันธ์กับสามีชาวบ้านในทำนองชู้สาว

ตัวอย่างคดีชู้สาวในชั้นศาลที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 981/2535 
จำเลยที่ 2 (เมียน้อย) ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีโจทก์อยู่ร่วมเรือนเดียวกันไปไหนมาไหนด้วยกัน บุตรของโจทก์และจำเลยที่ 1 เห็นทั้งสองคนนอนร่วมเตียงเดียวกัน จำเลยที่ 2 เคยไปบ้านมารดาของจำเลยที่ 1 ในเทศกาลสำคัญ ถือว่าเป็นการแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ทำนองชู้สาวแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2940/2538
การเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่น ป.พ.พ.มาตรา 1523 วรรคสอง มิได้เขียนไว้ว่า ภริยาต้องฟ้องหย่าสามีก่อน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ โดยไม่ต้องฟ้องหย่าสามี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4818/2551
ภริยาฟ้องเรียกค่าทดแทนจากภริยาน้อย แม้ไม่ฟ้องหย่าสามี ก็เรียกค่าทดแทนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6851/2537 
แม้โจทก์จะทราบความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวของจำเลยกับนาย อ. สามีโจทก์มาตั้งแต่ปลายปี 2529 ก็ตาม แต่คำฟ้องของโจทก์นั้นเองก็อ้างความสัมพันธ์ของจำเลยกับนาย อ. ฉันสามีภริยาจนมีบุตร 1 คน และในชั้นพิจารณาก็ได้ความว่าความสัมพันธ์ของจำเลยกับนาย อ. ในทำนองชู้สาวยังเกิดขึ้นต่อมามิได้หยุดกระทำและสิ้นไป คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529

โจทก์เบิกความยืนยันว่าโจทก์ไม่เคยยินยอมให้นาย อ. สามีโจทก์ไปมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับจำเลย และเคยขอร้องให้เลิกเกี่ยวข้องกับจำเลยแต่ นาย อ. ไม่เชื่อฟัง เมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยมีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับนาย อ. โจทก์และนาย อ.ได้ทะเลาะโต้เถียงกันแล้วแยกทางกัน พฤติการณ์เช่นนี้ย่อมแสดงว่าโจทก์ไม่ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้นาย อ. กับจำเลยมีความสัมพันธ์กันในทำนองชู้สาว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนจากจำเลยได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1523 วรรคสอง ที่ศาลล่างพิพากษาให้ค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวน 250,000 บาท ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1620/2538 

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ได้แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวมาตั้งแต่ปี2518 ตลอดมาจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ลักษณะการกระทำของจำเลยที่ 1 ได้กระทำต่อเนื่องกันมายังมิได้หยุดการกระทำคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1529 โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 วรรคสอง ได้ โดยไม่จำต้องคำนึงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงหย่ากันเอง หรือศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา1516 (1) ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 วรรคแรกหรือไม่

สรุปก็คือ สามารถฟ้องได้ครับ แต่ทั้งนี้ต้องจัดเตรียมพยานหลักฐานให้แน่นนะครับ มิเช่นนั้นศาลอาจยกฟ้องได้ครับ

656
ก็น่าเห็นใจนะครับ อย่างไรก็ตามขอตอบตามคำถามอย่างนี้ครับ
๑. กรณีการลาบวชนั้น ต้องดูข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่า ได้กำหนดหลักเกณฑ์การลาบวชไว้ว่าอย่างไร ต้องขออนุญาตก่อนกี่วัน หรือเป็นสิทธิของลูกจ้างที่สามารถลาบวชได้โดยเพียงการแจ้งให้ทราบ ซึ่งการลาบวชนี้ต้องดูที่ระเบียบการลาครับ อย่างไรก็ตาม หากได้มีการแจ้งล่วงหน้าไปพอสมควรแล้วเรามีการเตรียมการต่างๆโดยเสียค่าใช้จ่ายในการเตรียมงานไว้ทั้งหมดแล้ว ถึงแม้ว่าบริษัทจะไม่อนุมัติ ผมก็คิดว่า "พอมีเหตุอันสมควร" ที่ศาลจะให้ความกรุณาครับ
๒. การที่บริษัทลดตำแหน่งงานนั้น โดยทางกฎหมายถือว่าไม่เป็นคุณกับลูกจ้างครับ
เอาใจช่วยครับ
ทนายพร

657
เรียน คุณข้าวเหนียวมะม่วง

ปัญหาสำคัญของลูกจ้างประการหนึ่งก็คือการไม่เข้าใจกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างเสียเปรียบนายจ้างเสมอ

อย่างเช่นในเรื่องของคุณนี้ ที่ “พลาด” ที่ไปเขียน “ใบลาออก” ทำให้ความสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง โดย “ความสมัครใจที่จะเป็นฝ่ายเลิกสัญญาจ้างเอง”
 
ดังนั้น เมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดโดยความสมัครใจของเราเองแล้ว จึงไม่สามารถเรียกร้องตามสิทธิตามกฎหมายที่ควรจะได้รับ

อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความกระจ่างและเป็นความรู้กับผู้ที่สนใจทั่วๆไปด้วย ก็ขอตอบตามประเด็นดังนี้ครับ

๑ จากคำถามที่ว่า “ในการนี้ดิฉันใคร่อยากทราบว่าดิฉันจะสามารถ เรียกร้องใด ๆ ได้บ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน” 
ตอบ  ไม่สามารถเรียกร้องเงินค่าชดเชย , สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ได้เนื่องจากเราเป็นฝ่ายเขียนใบลาออกเองครับ

๒.จากคำถามเรื่องใบผ่านงาน
ตอบ  ในเรื่องนี้เป็นสิทธิของเราที่จะได้รับใบผ่านงานจากนายจ้าง โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (บรรพ ๓ ลักษณะ ๖ จ้างแรงงาน) มาตรา ๕๘๕ ได้บัญญัติว่า “เมื่อการจางแรงงานสุดสิ้นลงแลว ลูกจางชอบที่จะไดรับใบสําคัญแสดงวาลูกจางนั้นได้ทํางานมานานเทา ไหรและงานที่ทํานั้นเปนงานอยางไร” ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องทำหนังสือใบผ่านงานให้กับเราครับ ถ้านายจ้างยังเพิกเฉยก็ให้ไปแจ้งเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานประจำเขตหรือประจำจังหวัดที่เราทำงานเพื่อบังคับให้นายจ้างออกใบผ่านงานให้เราได้ครับ

๓.จากคำถามที่ว่า “ดิฉันสามารถไปดำเนินการฟ้องร้องที่ศาลแรงงานเลยได้หรือไม่”
 ตอบ   ค่อนข้างยากและอาจจะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นที่เราไปเขียนใบลาออกเอง จะเป็นข้อต่อสู้ที่สำคัญของนายจ้างที่อาจจะทำให้คุณแพ้คดีได้ครับ
ส่วนเรื่องโรงแรมมิได้ให้โอกาสในการลาออกให้ถูกต้องตามระเบียบ เพื่อรับเงินเดือนเต็มเดือน อีกทั้งมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า นั้น หากคุณไม่เขียนใบลาออก แต่ยอมให้บริษัท “เลิกจ้าง” ถ้าเป็นกรณีอย่างนี้ก็มีโอกาสสูงที่จะชนะคดีและมีสิทธิได้รับเงินชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า รวมทั้งค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้ครับ

๔. ส่วนเรื่องใบเตือนนั้น ถ้าเป็นการทำผิดวินัยที่ไม่ร้ายแรง ก็ไม่เป็นเหตุที่นายจ้างจะเลิกจ้างได้ครับ (ประเด็นในเรื่องนี้คือ เราได้เขียนใบลาออกหรือไม่? หากไม่ได้เขียนใบลาออก ก็ถือว่า นายจ้างได้เลิกจ้างคุณแล้ว ซึ่งข้อแนะนำก็จะเป็นไปตามข้อ ๓ ครับ)

ทนายพร

658
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า "สัญญาจ้างทำของ" กับ "สัญญาจ้างแรงงาน" หมายความว่าอย่างไร
"จ้างทำของ" หมายความว่า  สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จ ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น
ส่วน "สัญญาจ้างแรงงาน" หมายความว่า ญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งที่เรียกว่า ลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่ บุคคลอีกคนหนึ่งที่เรียกว่า นายจ้าง และ นายจ้างตกลงจะให้สินจ้างแก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้
ดังนั้นถ้าเป็นสัญญา "จ้างทำของ" ก็ดูจะเรียกร้องยากแล้วล่ะครับ เพราะเป็นเรื่องของความสมัครใจในการทำสัญญาของทั้งสองฝ่ายครับ
ทนายพร

659
ก่อนอื่นต่อพิจารณาสัญญาที่โรงเรียนทำไว้กับคุณแม่ของคุณก่อนว่าเป็นสัญญาอะไร ระหว่าง "จ้างทำของ" กับ "จ้างแรงงาน" เนื่องสัญญาทั้งสองประเภทนั้นจะมีข้อแนะนำที่แตกต่างกันครับ ซึ่งในชั้นนี้ไม่สามารถที่ให้ข้อแนะนำได้มากกว่านี้ครับ
อย่างไรก็ตาม เท่าที่อ่านคงไม่ใช่แค่เรื่องสัญญาหรอกนะครับ คงเป็นเรื่องของอิทธิพลและความพึงพอใจของผู้มีอำนาจมากกว่าครับ หากจะแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น ก็คงต้องอาศัยกรรมการ มาช่วยไกล่เกลี่ยให้แล้วล่ะครับ...
ทนายพร

660
ต้องขออภัยด้วยนะครับที่มาตอบช้า ช่วงนี้ทนายงานเยอะมากจริงๆครับ ขอตอบทีละข้อดังนี้

(1)   เมื่อมีการเปลี่ยนท่อไอเสียมาแล้ว ซึ่งไม่เกี่ยวว่ามีมอก. หรือ ไม่มีมอก. นะครับ เพราะท่อไอเสียจะไม่ผิดกฎหมายก็ต่อเมื่อความดังของท่อไอเสียนั้นต้องไม่เกิน 95 เดซิเบล ซึ่งการที่จะทราบความดังของท่อไอเสียต้องใช้เครื่องวัดในการพิสูจน์เท่านั้น ทั้งนี้หากมีการตรวจวัดความดังของท่อไอเสียแล้วเกิน 95 เดซิเบล จะทำให้มีโทษปรับ 1,000 บาท  และออกใบเตือนให้ไปเปลี่ยนท่อ (ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 10 ทวิ และข้อกำหนดกรมตำรวจ เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำ ก๊าซ และระดับเสียงของรถ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ยินยอมให้นำมาใช้ในทางเดินรถได้ นำรถที่เครื่องยนต์ก่อให้เกิดเสียงเกินเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนดมาใช้ในทางเดินรถ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท)

ในระหว่างตรวจ ตำรวจต้องมีเครื่องวัดในการพิสูจน์ข้อกล่าวหาด้วย จะใช้หูฟังแล้วกล่าวอ้างลอยๆ ไม่ได้ เหมือนกรณีคนเมายังต้องมีการเป่าหลอด ท่อดังก็ต้องมีเครื่องวัดเช่นกัน และต้องวัดตามวิธีที่ถูกต้องด้วย

ทั้งนี้ 95 เดซิเบล อ้างอิงมาจากพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535  ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดระดับเสียงของรถจักรยานยนต์  โดยได้ระบุไว้ว่า ระดับเสียงในขณะที่เดินเครื่องยนต์อยู่กับที่โดยไม่รวมเสียงแตรสัญญาณ ต้องมีระดับเสียงไม่เกิน 95 เดซิเบล เมื่อตรวจวัดระดับเสียงในระยะห่างจากรถจักรยานยนต์ 0.5 เมตร


ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดระดับเสียงและวิธีการตรวจวัดระดับเสียงของรถจักรยานยนต์ พ.ศ. 2548 ก็ระบุไว้เช่นกันว่า ระดับเสียงในขณะที่เดินเครื่องยนต์อยู่กับที่โดยไม่รวมเสียงแตรสัญญาณ ต้องมีระดับเสียงไม่เกิน 95 เดซิเบล เมื่อตรวจวัดระดับเสียงในระยะห่างจากรถจักรยานยนต์ 0.5 เมตร


(2) ความหมายของการดัดแปลงสภาพรถคือต้องผิดไปจาก มาตรา 14 ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ 2522 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดเปลี่ยนแปลงตัวรถหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถ ให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงในเอกสารที่จดทะเบียน จะไม่ได้ระบุว่าคุณใช้ท่อไอเสียแบบไหน ซึ่งตราบใดที่รถคุณยังเป็น 2 ล้อ 1 ท่อ ใช้โซ่ขับ สีถูกต้อง ความจุถูกต้อง ไม่ได้เปลี่ยนไปใช้แก๊สหรือดีเซล ก็ถือว่าไม่ได้ดัดแปลงสภาพรถหรือผิดกฎหมายแต่อย่างใดครับ

หน้า: 1 ... 42 43 [44] 45 46 ... 50